svasdssvasds

"กัลปังหา" คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศทางทะเล เตือนไม่ควรเข้าใกล้

"กัลปังหา" คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศทางทะเล เตือนไม่ควรเข้าใกล้

ทำความรู้จัก "กัลปังหา" คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศทางทะเล ชมความสวยงามของ "กัลปังหาแดง" อันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร จ.ตรัง กรมทะเลชายฝั่ง เตือนนักท่องเที่ยว ไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้เป็นการรบกวน ทำลาย ระบุเป็นสัตว์คุ้มครอง ห้ามครอบครอง

SHORT CUT

  • จากกรณีที่พบกลุ่ม "กัลปังหาแดง" โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร
  • กรมทะเลชายฝั่ง เตือนนักท่องเที่ยว ไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้เป็นการรบกวน ทำลาย
  • การทำลายกัลปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกัลปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว และเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย

ทำความรู้จัก "กัลปังหา" คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศทางทะเล ชมความสวยงามของ "กัลปังหาแดง" อันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร จ.ตรัง กรมทะเลชายฝั่ง เตือนนักท่องเที่ยว ไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้เป็นการรบกวน ทำลาย ระบุเป็นสัตว์คุ้มครอง ห้ามครอบครอง

สำหรับใครเคยไปเที่ยวทะเล หรือมีโอกาสได้ดำน้ำ คงจะได้เคยเห็น "กัลปังหา" ซึ่งมีลักษณะคล้ายพัด หรือบางชนิดก็เป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ มองเผินๆ คล้ายว่าต้นไม้ แต่รู้หรือไม่ว่าความจริง กัลปังหา เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และมีความสำคัญกับระบบนิเวศใต้ทะเล

ทำความรู้จัก "กัลปังหา" คืออะไร

"กัลปังหา" เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ BRT หรือ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program : BRT) ซึ่งเขียนโดย คุณวรณพ วิยกาญจน์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุเกี่ยวกับกัลปังหาว่า

กัลปังหา (Gorgonians) เป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลที่บางชนิดมีรูปร่างแผ่แบนคล้ายพัด จะเรียกว่าพัดทะเล (Sea fan) หรือบางชนิดมีลักษณะเป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ ก็จะเรียกว่าแส้ทะเล (Sea whip) ซึ่งถ้ามองเผินๆ แล้วกัลปังหาจะดูเหมือนต้นไม้

แต่ความจริงแล้ว กัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่ถูกแยกออกมาเป็น Subclass Octocorallia ซึ่งมีสมมาตรของร่างกายแบบรัศมี นอกเหนือจากรูปร่างลักษณะภายนอกที่เห็นแตกต่างกับปะการังแข็งแล้ว ตัวของกัลปังหาหรือที่เรียกว่า "โพลิป" (Polyp) แต่ละตัวนั้นจะมีหนวด (Tentacle) 8 เส้น ในขณะที่โพลิปของปะการังแข็งแต่ละตัวจะมีหนวด 6 เส้น หนวดเหล่านี้มีลักษณะคล้ายขนนก ทำหน้าที่กรองดักสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำแล้วนำมากินเป็นอาหาร 

ทำความรู้จัก "กัลปังหา" คืออะไร

 

บริเวณหนวดของมันยังมีเข็มพิษที่คอยช่วยในการจับเหยื่อพวกแพลงก์ตอนสัตว์อีกด้วย โดยจะพบกัลปังหามากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำมีส่วนช่วยในการพัดพาอาหารมาให้ และช่วยพัดพาสิ่งขับถ่ายหรือของเสียที่ถูกปลดปล่อยจากตัวกัลปังหาออกไป

กัลปังหา สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบ "อาศัยเพศ" และ "ไม่อาศัยเพศ" เช่นเดียวกับปะการัง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นใช้วิธี "แตกหน่อ" หรือ "การแยกออกจากกัน" ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมภายในระหว่างเซลสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียที่มาจากต่างโคโลนีกัน โดยที่แต่ละโคโลนีของกัลปังหาส่วนใหญ่จะมีเซลสืบพันธุ์เพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

"กัลปังหา" มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเล

กัลปังหา มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก หลายชนิด ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ อาจพบดาวเปราะ หอยเบี้ย ปู หรือกุ้ง เกาะติดอยู่ตามกิ่งก้านของกัลปังหาเป็นจำนวนมาก

ภัยคุกคาม "กัลปังหา"

เรืออวนลาก อวนรุน และภัยส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อ ที่ว่ากันว่ากัลปังหา สามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคได้ มันจึงถูกลักลอบนำมาค้าขาย ผ่านรูปแบบทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง  ซึ่งในแง่มุมบางส่วนของความเชื่อ สายมูบางคน ก็เชื่อในเรื่องพ้องเสียงของ "กัลปังหา" ถือเป็นเคล็ดเพราะชื่อเรียกคล้ายๆกับ "กันปัญหา" ขับไล่สิ่งชั่วร้าย แบ่งเป็น กัลปังหาดำ กัลปังหาทองดำ กัลปังหาขาว และ กัลปังหาแดง (เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณ)

สำหรับสีของกัลปังหามีตั้งแต่สีขาว เหลือง ชมพู ม่วง แดง ไปจนถึงแดงเข้ม สีอิฐแดงสนิมเหล็ก และสีน้ำตาลเข้ม แต่เมื่อนำขึ้นมาจากทะเลตัวกัลปังหาจะตายเหลือแต่แกนที่มีสีดำมีลักษณะแข็ง

"กัลปังหา" คืออะไร

"กัลปังหา" สัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมีไว้ในครอบครองหรือเพื่อการค้าขาย

สำหรับในประเทศไทย "กัลปังหา" ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมีไว้ครอบครอง หรือ ซื้อขายกันอย่างเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เช่น ปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล ดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ หอยสังข์แตร จระเข้ เป็นต้น หากพบการครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ตามพิจารณา

ทีมข่าว Nation STORY ได้ลงพื้นที่บริเวณหน้าหาดทรายทอง หมู่ที่ 2 ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อไปชมความสวยงามของ "กัลปังหาแดง" ที่โผล่พ้นน้ำในช่วงนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอันซีนของเกาะสุกร

ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ในช่วงข้างแรม 1-3 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลลดลงต่ำสุด จะพบกัลปังหาแดงโผล่พ้นน้ำมากที่สุด และพบเพียงแห่งเดียวใน จ.ตรัง ที่อยู่ในเขตน้ำตื้น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นอันซีนแห่งใหม่บนเกาะสุกร ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

กัลปังหาแดง เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง มีหนวดลักษณะคล้ายขนนกคอยดักจับแพลงตอน ที่ลอยมากับน้ำกินเป็นอาหาร พบมากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลหรือที่ระดับความลึก 3-10 เมตร แต่ช่วงเดือนมีนาคมนี้พบว่า กัลปังหาแดงทรุดโทรมลงไปมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำทะเลลดลงเป็นเวลานานกว่าปกติ ทำให้อุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้น ยอดของกัลปังหาแดงจึงเริ่มแห้งตายเพราะโผล่พ้นน้ำเป็นเวลานาน แต่ยังคงมีกัลปังหาแดงที่เกิดใหม่อยู่ใต้ผิวน้ำโผล่ขึ้นมาให้เห็น

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า กรณีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 มีลงข่าวว่า ที่เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง พบกลุ่ม "กัลปังหาแดง" หรือ "Sea Fan" โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด เผย 1 ปีมีให้เห็นแค่ไม่กี่ครั้งและเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวในจังหวัดตรังที่พบในเขตน้ำตื้น กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร ที่นักท่องเที่ยวแห่ชมความสวยงาม ตื่นตาตื่นใจกันตั้งแต่เช้า

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอเรียนว่า กัลปังหา (Sea Fan) คือสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กัลปังหาประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา 

อีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้และ จะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป โดยกัลปังหาจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน 

ดังนั้น การรบกวนกัลปังหาและแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น การสัมผัส การเหยียบย่ำ การทำให้เกิดการฟุ้งของตะกอน จะเป็นการรบกวนการหาอาหารและการดำรงชีวิตของกัลปังหาได้

กัลปังหามีประโยชน์ โดยเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน แต่ด้วยการที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำมาประดับตู้ปลา นำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง เครื่องประดับ 

ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ในปัจจุบัน สามารถรับรองได้เลยว่ากัลปังหามีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริงตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ 

การย้ายกัลปังหา เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล

อีกทั้งในระบบนิเวศตามธรรมชาติ นั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกัลปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ อีกทั้งกัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต และในหนึ่งต้นนั้นมีตัวกะละปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การทำลายกัลปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกัลปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว และเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย

ทั้งนี้ กัลปังหา เป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจะมีไว้ในครอบครอง ทำการค้าขาย หรือนำเขา-ส่งออกโดยเด็ดขาด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซาก) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามครอบครอบ เว้นแต่ผู้ใด้รับอนุญาตให้ครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท

ที่มา : Nation Story , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related