SHORT CUT
ประชากร 22 ล้านชีวิตในเม็กซิโกกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง หลังปริมาณน้ำฝนลดน้อยลง พิษความร้อนจากเอลนีโญ เจ้าหน้าที่ออกมาตรการขุดบ่อน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่วัน "Day Zero"
ไม่แน่ใจว่า “ภัยแล้ง” นับเป็นเทรนด์ได้หรือไม่ เพราะเริ่มปีมังกรมาได้เพียง 2 เดือนหลายประเทศต้องเผชิญกับพิษภัยแล้ง หลายเมืองน้ำแห้งเหือด ทำให้น้ำสะอาดกลายเป็นของมีค่าขึ้นมา “เม็กซิโก” คือประเทศล่าสุดที่ถูกรายงานว่า กำลังถูกภัยแล้งกลืนเมือง
ในเมืองเม็กซิโกซิตี้ (Mexico City) และเมืองรอบ ๆ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 22 ล้านคน ต่างเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก เว็บไซต์ Livescience รายงานว่า เจ้าหน้าที่เริ่มสงวนน้ำเอาไว้ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำได้แค่วันละไม่กี่ชั่วโมง
สาเหตุภัยแล้งในเม็กซิโกเกิดจาก ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง อุณหภูมิแถบภูมิภาคอเมริกากลางที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเมือง
อีกหนึ่งสาเหตุใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเอลนีโญ ที่แผ่คลื่นความร้อนไปทั่วทวีปอเมริกา ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้เม็กซิโกเตรียมตัวนับถอยหลังสู่ “Day Zero” วันซึ่งประชาชนจะไม่มีน้ำบริโภค ใช้สอยในชีวิตประจำวัน
เพื่อไม่ให้เกิด “Day Zero” ทางเจ้าหน้าที่เริ่มขุดบ่อน้ำทั่วเมือง พร้อมทั้งกับปรับปรุงระบบน้ำประปาให้มีความเสถียรมากขึ้น เพื่อจะมั่นใจได้ว่า “น้ำสะอาด” จะสามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม
เม็กซิโกเป็นประเทศที่เผชิญกับภัยแล้งอยู่บ่อย ๆ โดยเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เพิ่งผ่านมรสุมภัยแล้ง ที่ว่ากันว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี อากาศร้อนในครั้งนั้นมิเพียงลิดรอนการเข้าถึงน้ำของประชาชนเท่านั้น แต่ยังคร่าสัตว์น้อยใหญ่อีกนับไม่ถ้วน
โคยาเมะ เมืองเกษตรกรรมในเม็กซิโกถูกรายงานว่า ไม่มีน้ำใต้บาดาลใช้ ครั้นจะไปสูบน้ำจากเขื่อนน้ำก็ร่อยหรอเต็มที ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้การเก็บเกี่ยวของเกษตรกรหยุดชะงัก ร้ายแรงถึงขั้นมีการเลิกจ้างคนงานเพราะไม่มีอะไรให้ทำแล้ว
สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน รู้หรือไม่ว่า? “น้ำ” ของชาวเม็กซิโกกว่า 60% ถูกสูบขึ้นมาจากชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน (Aquifer) แต่หลังจากผ่านยุค 1950s เป็นต้นมา น้ำจากชั้นหินถูกสูบขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้แผ่นดินเม็กซิโกยุบลงประมาณ 51 เซนติเมตร
ทั้งนี้ ถือว่าชาวเม็กซิโกยังมีเวลาสำหรับการแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ก่อนที่จะเข้าสู่เดือนที่ร้อนที่สุดของประเทศคือตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นไป มิหนำซ้ำ ยังต้องมาลุ้นอีกว่า ฤดูร้อนปีนี้ จะร้อนระอุทำลายสถิติเดิมอีกหรือไม่
ที่มา: Livescience
ข่าวที่เกี่ยวข้อง