svasdssvasds

UN เผย สัตว์อพยพย้ายถิ่นหลายพันล้านตัวเสี่ยงสูญพันธุ์! จากน้ำมือมนุษย์

UN เผย สัตว์อพยพย้ายถิ่นหลายพันล้านตัวเสี่ยงสูญพันธุ์! จากน้ำมือมนุษย์

สัตว์อพยพย้ายถิ่นฐาน จำนวน 1 ใน 5 ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอพยพ (CMS) เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะถูกภัยคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ และปัญหา Climate Change

ในแต่ละปี สัตว์ทั่วโลกหลายพันล้านตัวจะอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อไปหาอาหาร หาที่อยู่ใหม่ หรือเพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งการอพยพของสัตว์แต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เต่ามะเฟืองที่เคยถูกรายงานว่า มันเดินทางจากทวีปเอเชียตะวันเฉียงใต้ไปยังอลาสก้าในสหรัฐ เป็นระยะทางกว่า 10,000 ไมล์

เต่ามะเฟือง สัตว์นักอพยพเดินทางไกลกว่า 10,000 ไมล์เพื่อหาอาหาร Credit ภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แต่นับเป็นข่าวร้ายรับเทศกาลแห่งความรัก หลังสหประชาชาติ เผยรายงาน ‘State of the World’s Migratory Species’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘สัตว์อพยพ’ หลายพันล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และหลายชนิดจ่อสูญพันธุ์ เพราะถูกภัยคุกคามจากมนุษย์และปัญหาด้านสภาพอากาศ

โดยในบรรดาสัตว์อพยพที่อยู่ในลิสต์ของอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอพยพ (CMS) ซึ่งมีทั้งหมด 1,189 ชนิด ‘ปลา’ คือสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุด เพราะไปติดอวนลากของการทำประมงเชิงพาณิชย์

รู้หรือไม่! ปัจจุบัน จำนวนสัตว์อพยพที่ถูกบันทึกเอาไว้มีทั้งหมด 4,508 ชนิดทั่วโลก แต่มีเพียง 1,189 ชนิดเท่านั้น ที่ถูกระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอพยพ (CMS) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1979 จากการร่วมมือกันของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งไม่มีประเทศไทย  

สรุปรายงานจากสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องชะตากรรมของสัตว์อพยพ

  • สัตว์เกือบครึ่ง (44%) ในลิสต์ของ CMS มีประชากรลดลง
  • 1 ใน 5 ของสัตว์ในลิสต์ของ CMS มีความเสี่ยงสูญพันธุ์
  • ปลากว่า 97% ที่อยู่ในลิสต์ของ CMS เสี่ยงสูญพันธุ์
  • สัตว์อพยพทั่วโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
  • กว่า 51% ของพื้นที่ที่เหมาะสำหรับสัตว์อพยพในลิสต์ของ CMS ไม่ได้รับการดูแล
  • กิจกรรมของมนุษย์และการแสวงหาผลประโยชน์มากเกินไปคือภัยคุกคามอันดับหนึ่ง
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นหนึ่งสาเหตุ

การทำประมงกับวาทกรรมฆ่าสัตว์น้ำอย่างไม่ตั้งใจ

ไม่กี่ปีก่อน WWF เคยระบุว่า ปลาที่อาศัยอยู่ตามสามเหลี่ยมปะการัง อาทิ ปลาหมอ ปลาเก๋า ปลานกแก้ว และปลากะพง มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุมาจากการจับปลามากเกินไป (Over Fishing) เพื่อนำมาเป็นอาหารป้อนตลาดใหญ่ในฮ่องกง จีนและประเทศอื่นๆ

เรือประมงอวนลาก ภัยคุกคามสัตว์ในทะเล Credit ภาพ REUTERS

อีกหนึ่งสาเหตุคือ การทำประมงเชิงพาณิชย์ (Commercial Fishing) ด้วยไอเดียที่ว่า หย่อนอวนลาก (Trawling) ลงทะเลไปแต่ละที ต้องได้ปริมาณสัตว์ทะเลให้ได้มากที่สุด แม้จะบอกว่าต้องการจับเฉพาะปลาตัวเล็ก ๆ ก็ตามที

แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่าน ๆ มา เราก็เห็นแล้วว่าบรรดาสัตว์ทะเล อาทิ เต่าทะเล เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ กระเบน และอีกนานาชนิดที่ต้องติดร่างแหอวนลากของเรือประมงเชิงพาณิชย์ จนต้องสังเวยด้วยชีวิต...

เต่าทะเลติดอวนลาก Credit ภาพ NOAA

ฉลากติดอวนลากจากการทำประมง Credit Oceana ภาพ Europe

ถอดหน้ากาก เปิดหน้าล่าอย่างโจ่งแจ้ง

นก คือ สัตว์อพยพลำดับต้น ๆ ที่ถูกมนุษย์ล่าอย่างหนัก ซึ่งให้ข้อมูลเล็กน้อยว่า นกเป็นสัตว์ที่ไม่ถูกรวมอยู่ในลิสต์ของ CMS

นกจะอพยพย้ายถิ่นฐานปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจุดประสงค์ของการอพยพแต่ละครั้งก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป บ้างหนีอากาศหนาว บ้างมาแวะพักหาอาหาร หรืออพยพมาเพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ แต่มีผู้ที่ฉกฉวยโอกาสตรงนี้ในการล่าพวกมัน

นกอพยพประจำฤดูกาล แต่ถูกล่าในบางประเทศ Credit ภาพ REUTERS

โดย UN คาดการณ์ว่า มีนกประมาณ 11 ถึง 36 ล้านตัว ที่ถูกล่าอย่างผิดกฎหมายในแถบภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน และอีก 2 ถึง 3 ล้านตัว ถูกล่าแถว ๆ คาบสมุทรอาหรับ

เปิดวิธีอนุรักษ์สัตว์อพยพ

สหประชาชาติได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลทุกประเทศว่า ให้ออกมาตรการเชิงรุกเพื่อจัดการกับปัญหาสัตว์อพยพถูกมนุษย์คุกคาม โดย UN เสนอเอาไว้ดังนี้

  • ประเทศต่าง ๆ ควรระบุเส้นทางการอพยพของสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ให้ชัดเจน
  • ลดโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อการอพยพ เช่น การสร้างเขื่อน
  • เช็กให้แน่ใจว่า 30% ของที่ดินและทะเลที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟู
  • ควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์อพยพ
  • ลดการทำประมงเชิงพาณิชย์
  • หยุดยั้งมลภาวะทางแสงและเสียง

 

ที่มา: CNN , UN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related