หญ้าทะเลเป็นพืชดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเลและยังเป็นอาหารของสัตว์ทะเลหายาก อย่าง พะยูน แต่รู้ไหมว่าแหล่งหญ้าทะเลในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ตรังและกระบี่เสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกำกับจำนวนของพะยูนที่ลดลงด้วย
ปัจจุบันหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังลดลง โดยเฉพาะที่จังหวัดตรังและกระบี่ซึ่งเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก โดยการลดลงของหญ้าทะเลซึ่งเป็กนอาหารของพะยูน สัตว์ทะเลหายากทำให้จำนวนของพะยูนลดลงตามไปด้วย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ภาวะโลกร้อน โลกรวนส่งผลกับหญ้าทะเลแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน ดังนี้
"ปัญหาใหญ่ที่เกิดต่อเนื่องมา 2-3 ปีคือความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ตรังและกระบี่ จึงอยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ขอเกริ่นสั้นๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมา หญ้าทะเลในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเห็นแล้วใจหาย ผมเคยเล่าถึงแหล่งหญ้าบางแห่งในภาคตะวันออกที่หายไปกับตาในช่วงเวลาแค่ไม่ถึงปี ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นผลทั้งจากมนุษย์และจากธรรมชาติ ยังรวมถึงผลกระทบจากโลกร้อนทะเลเดือด
แหล่งหญ้าแต่ละแห่งอาจได้รับผลต่างกัน เช่น ตะกอนทับ โรค (ซึ่งต้องพิสูจน์) การเปลี่ยนทิศกระแสน้ำ ฯลฯ แต่ที่รุนแรงต่อเนื่องคือแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดของบ้านเรา ตรังและกระบี่ พื้นที่หญ้าทะเลหลายหมื่นไร่ มีความหมายมากมายต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและการทำมาหากินของพี่น้อง ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์หายาก โดยเฉพาะพะยูนกว่า 70% ของไทยอยู่ในบริเวณนั้น"
หากดูจากภาพใหญ่ เราพอแบ่งช่วงหญ้าโทรมได้เป็น 2 กลุ่ม ช่วงแรกเกิดปี 2564-2565 บริเวณอ่าวทุ่งจีน ทางใต้เกาะลิบง สมมติฐานคืออาจเกิดจากกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่แถวนั้น ทำให้ตะกอนลอยมาแต่กลุ่มสองเริ่มปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึง 2566 จนปัจจุบัน
"หนนี้คลุมพื้นที่กว้างมากตลอดแนวชายฝั่งตรัง ยังเริ่มลามเข้าไปสู่บางพื้นที่ในจังหวัดกระบี่ หญ้าทะเลที่โดนผลกระทบหนักคือหญ้าคาทะเล อันเป็นชนิดใหญ่ที่สุด มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อสัตว์น้ำและการกักเก็บคาร์บอน ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศ
เมื่อหญ้าชนิดนี้ลดลง ทำให้ตะกอนในพื้นที่เปลี่ยนไป สภาพระบบนิเวศเปลี่ยนตามผลกระทบจึงรุนแรงต่อ ecosystem service เทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง แปลง่ายๆ คือประโยชน์ของระบบนิเวศที่มีต่อสัตว์น้ำและผู้คนจะลดลงเฉียบพลัน"
อ.ธรณ์ ยังเผยอีกว่า "แม้พะยูนกินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่หญ้าทะเลคืออาหารหลัก มีข่าวว่าปลายปีก่อน-ต้นปีนี้ มีพะยูนจากไปแล้ว 3 ตัว แม้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการลดลงของหญ้าทะเลได้ชัดเจน แต่เริ่มมีสัญญานบ่งบอกในต่างประเทศ หญ้าทะเลที่ลดลงในฟลอริดา ทำให้มานาตี (ญาติพะยูน หางกลม) ในบางพื้นที่ลดลง 10% หรือกว่านั้น
กรมทะเลจึงกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราทราบก่อนที่จะเกิดปัญหายังรวมถึงความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่จะน้อยลงแน่ หากระบบนิเวศเปลี่ยนไป จากหญ้าหนาทึบกลายเป็นพื้นทรายโล่งๆ ผลกระทบอีกประการที่เกิดขึ้นคือ Blue Carbon"
"แหล่งหญ้าทะเลคือเทพในการกักเก็บคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน แต่เมื่อเสื่อมโทรม ความสามารถในการกักเก็บย่อมน้อยลง มีการศึกษาในต่างประเทศในเรื่องนี้ และผลออกมาน่าหวั่นใจเป็นอย่างมาก หลายเปเปอร์สรุปคล้ายกัน โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจัยบางประการเปลี่ยนไป
หญ้าไม่ออกเมล็ด เริ่มโทรม ความหนาแน่นลดลง ก่อนพื้นที่เริ่มหายไปเรื่อยๆ โรคของหญ้าอาจเกิดง่ายขึ้น ทำให้เราต้องเริ่มศึกษาเรื่องนี้เป็นครั้งแรกๆ ในไทย เช่น การเพาะเชื้อที่ร่วมกันระหว่างคณะประมงและกรมทะเล
ปัญหาคือความซับซ้อนของสาเหตุ หลายอย่างเกี่ยวข้องกัน การระบุให้แน่ชัดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่านั้นคือการแก้ปัญหา หากพื้นที่ได้รับผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เราอาจหยุดกิจกรรมดังกล่าว แต่ถ้าเป็นพื้นที่ไม่มีกิจกรรมใด หญ้าดันตาย คราวนี้แหละครับคือเรื่องยาก
เพราะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือด สิ่งแวดล้อมแปรปรวน ระบุสาเหตุก็ยาก แก้ไขยิ่งยากกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงการจัดการที่ต้นทางแม้ต้นทางก็รู้ๆ กันอยู่ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ รู้กันมาหลายสิบปี แต่เรายังแก้ไขได้น้อยมากที่น่าเจ็บใจคือเมื่อผลกระทบเกิดกับระบบนิเวศ คนที่เดือดร้อนกลุ่มแรกๆ คือคนที่อยู่อย่างพึ่งพาและพอเพียง ไม่ใช่เป็นคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ แต่เจอผลกระทบก่อนและเจอเยอะ"
"คำถามสำคัญคือเราควรทำอย่างไรในการช่วยแหล่งหญ้า พะยูน และผู้คน ?
คำตอบน่าเศร้า มันไม่ง่ายที่จะแก้ ที่เรามาประชุมกันยาวนานก็เพราะหาทางอยู่แต่อย่าลืมว่าเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ เราแทบไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเจอโลกที่ร้อนฉ่าขนาดนี้ ไม่เคยเจออุณหภูมิน้ำสูงเป็นประวัติการณ์ หากผลจากโลกร้อนแก้ง่าย เราคงไม่กลัวกันเช่นทุกวันนี้"
"ข้อเสนออย่างแรกคือเรียนรู้อย่างจริงจัง เก็บข้อมูลให้มาก ศึกษาให้เยอะ นำข้อมูลหลายด้านมาเชื่อมต่อกันให้ได้ เราจำเป็นต้อง “ลงทุน” บุคลากร อุปกรณ์ งบประมาณอย่างเร่งด่วน เหตุผลง่ายๆ ก็เหมือนกับเราต้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำ มิใช่ป่วยหนักแล้วค่อยไปหาหมอแต่เราละเลยมาจนเริ่มป่วยแล้ว เริ่มหนักแล้ว จะไปให้คุณหมอรักษา มันก็ไม่ง่ายแน่นอน นักรักษาระบบนิเวศ หากปราศจากข้อมูล ก็เหมือนกับคุณหมอที่ยืนอึ้ง บอกว่าทำไมปล่อยให้ป่วยได้ถึงขนาดนี้"
"ผมกำลังพูดถึงหญ้าทะเลเป็นหมื่นๆ ไร่ เป็นงานที่แสนสาหัสแน่นอน จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ถึงอาการป่วยหนักสำหรับแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งของบ้านเรา ถึงตอนนี้รู้สึกดีใจที่ตั้งหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อนที่คณะประมง ขอบคุณท่านคณบดีและเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกัน ขอบคุณเพื่อนๆ ภาคเอกชนที่สนับสนุนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญ้าทะเลบางแห่งในฝั่งอันดามัน ทำให้ทราบแล้วว่าแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวไทยที่กำลังทำงานอยู่สำคัญมากๆ จะพยายามเต็มกำลังที่จะดูแลไว้ให้ได้"
"ผมพูดไว้วันนี้เลยว่า ในวันหน้า แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์จะหายากขึ้นเรื่อยๆกิจกรรมใดๆ ที่เกิดผลกระทบ สร้างตะกอนจำนวนมาก น้ำเสีย ฯลฯ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงที่สุดครับ"
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า จากการสำรวจประเมินประชากรพะยูนในปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว และในปี 2566 อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่แหล่งอาศัยพะยูนทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย
1.บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง
2.เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่
3.เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต
4.เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล
5.เกาะพระทอง จังหวัดพังงา
6.หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด
7.อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
8.ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
9.อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
10.อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร
11.อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
12.อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี
13.อ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในอนาคตจะเดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น
ที่มา : Thon Thamrongnawasawat / กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เนื้อหาที่น่าสนใจ :