ขยะหนึ่งชิ้น แลกร้อยชีวิต! แม่เต่ามะเฟืองท้ายเหมืองตายแล้ว พบชันสูตรพบไข่ในท้องกว่า 136 ใบ สภาพร่างเน่าและพบเชือกประมงพันรัดที่ลำคอ คาดคือสาเหตุการตาย
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าเศร้าสำหรับเดือนมกราคม เมื่อประเทศไทยต้องสูญเสียแม่เต่ามะเฟืองไปอีก 1 ตัวอย่างน่าเสียดาย เพราะขยะประมงที่ไม่ได้มีการจัดการที่ดีมากพอ
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 13.19 น. ทางอุทยานได้รับแจ้งจากชาวบ้านท้ายเหมืองว่าพบซากเต่าเกยตื้น 1 ตัว บริเวณชายหาดท้ายเหมือง สภาพเน่า พร้อมมีเชือกรัดบริเวณลำคอ และพายหน้าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งคาดว่าเชือกเหล่านี้คือสาเหตุการตายของเต่ามะเฟืองตัวนี้
ในเวลาต่อมา หลังจากอุทยานได้นำส่งไปผ่าพิสูจน์และระบุตัวตนของเต่าตัวนี้ ก็พบข่าวเศร้าและน่าใจหาย เพราะเต่ามะเฟืองตัวดังกล่าว คือ เต่ามะเฟืองแม่ท้ายเหมือง ที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดท้ายเหมืองบ่อย ๆ ตามฤดูกาล และครั้งนี้เธอมาด้วยร่างที่ไร้ลมหายใจ
ผลการชันสูตรโดยสัตวแพทย์พบว่า สาเหตุการตายขอแม่เต่ามะเฟืองท้ายเหมืองเกิดจากเชือกที่พันรัดบริเวณคอเต่า ทำให้เต่าจมน้ำตายจากหลักฐานปอดได้รับความเสียหาย ซากเริ่มเน่า และที่น่าเศร้าไปมากยิ่งกว่า คือ เจ้าหน้าที่พบไข่ที่กำลังเติบโต และไข่สมบูรณ์ที่อยู่ในรังไข่จำนวน 136 ฟอง ซึ่งนี่ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ในไทย
ในขณะที่เราสูญเสียลูกเต่าและแม่เต่ากว่า 137 ชีวิตไป เธอทำให้เรายิ้มทั้งน้ำตา เพราะก่อนหน้าที่จะจากไป แม่ท้ายเหมืองได้ขึ้นมาวางไข่ไว้ก่อนหน้าแล้ว ซึ่งสมบูรณ์ครบทั้ง 92 ฟอง ถือเป็นรังที่ 6 ของอุทยานท้ายเหมือง และรังที่ 10 ของฤดูกาล รวมทั้ง 3 แม่เต่ามะเฟืองที่ช่วยกันขึ้นมาวางไข่
ซึ่งคาดว่า ประมาณเดือนมีนาคม ลูกเต่าของแม่มะเฟืองท้ายเหมืองจะลืมตาดูโลกและเริ่มออกจากรัง
เต่ามะเฟือง (Leatherback turtle) คือเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาด 1.5-2.5 เมตร หนักได้มากถึง 800-900 กิโลกรัม
กระดองของเต่ามะเฟืองพิเศษกว่าเต่าตัวอื่น เพราะเป็นหนังหุ้ม ไม่ใช่กระดองแข็ง ตีนเป็นใบพาย หัวใหญ่จนไม่สามารถหดกลับไปในกระดองได้ ส่วนกระดองหลังมีลักษณะร่องสันนูนตามยาว 7 สัน คล้ายผลไม้เมืองร้อน อย่างมะเฟือง จึงได้ชื่อว่า “เต่ามะเฟือง”
เต่ามะเฟืองมักจะผสมพันธุ์และวางไข่บนบกบริเวณชายหาดเท่านั้น เต่ามะเฟืองเพศเมียจะวางไข่ประมาณ 66-104 ฟองต่อหลุม ขึ้นอยู่กับอายุ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมของหาดที่วางไข่
ประเทศไทยจะพบเต่ามะเฟืองวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดของทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของไทย อาทิ จังหวัดภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะตรุเตา
เต่าทะเลชนิดต่าง ๆ มักเผชิญปัญหามีอัตราการอยู่รอดในธรรมชาติน้อย โดยเต่ามะเฟืองใช้เวลาในการฟักประมาณ 60-70 วัน อุณหภูมิของหลุมที่ไม่คงที่ ทำให้ไข่บางใบเสียหรือไม่สามารถฟักได้ ซึ่งจะมีเพียง 85% เท่านั้นที่มีโอกาสฟักออกมา
อีกทั้งระยะทางจากหลุมฟักไข่ไปยังชายหาดพวกมันอาจจะต้องเจอกับศัตรูทางธรรมชาติ ก็ยิ่งลดอัตราการรอดชีวิตกว่าจะถึงทะเล
และตัวอย่างของเต่ามะเฟืองแม่ท้ายเหมือง เต่ามักพบกับปัญหาการถูกพันรัดกับอุปกรณ์และเครื่องมือประมง การพัฒนาชายหาด การท่องเที่ยว ทำให้เต่ายิ่งสูญเสียศักยภาพในการดำรงชีพและข้อจำกัดในการวางไข่ที่ทำได้ยากมากขึ้น
สถานะสูญพันธุ์เต่ามะเฟือง : มีแนวโน้มสูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) และมีสถานะ “สัตว์ป่าสงวน” ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ของประเทศไทย
ที่มาข้อมูล
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง Khao Lampi-Hat Thai Mueang NP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง