พามาเปิดคำแถลงการณ์ ปกป้องหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟืองและพื้นที่นอนหาดชาวเลผืนสุดท้าย ที่เครือข่ายชาวเลอันดามัน ร้องขอนายทุน หลังได้มีการปักเสาลวดนามเพื่อเตรียมสร้างโรงแรม
หนึ่งในสถานที่เที่ยวถ่ายรูปสวย ยอดฮิต และฮิตสุดๆ ประจำ ภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาตินิยมไปถ่ายรูปบนชายหาดสวยๆ คู่กับเครื่องบินใกล้ๆ กันนั่นก็คือ หาดไม้ขาว สถานที่สุดอันซีนของการถ่ายรูปชายหาดกับเครื่องบินที่สวยงามมากๆ ที่หลายคนใฝ่ฝันว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตจะไปเยือนให้ได้ และกดชัตเตอร์รัวๆ แชร์รูปตัวเองลงออนไลน์อวดเพื่อนๆ
หาดไม้ขาว ไม่ได้มีดีแค่ความสวยงาม และเป็นแลนด์มาร์คในการถ่ายรูปเท่านั้น หาดหาดไม้ขาวยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายากหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเต่ามะเฟืองที่พบมากบนหาดแห่งนี้ โดยมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว ที่ได้ช่วยหาเงินทุนช่วยเหลือและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองที่กำลังเข้าสู่วิกฤตการณ์สูญพันธุ์ ช่วยเหลือเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บและพิการแต่กำเนิด รวมถึงมีศูนย์ศึกษาเรียนรุ้และฟื้นฟูสุขภาพเต่าทะเลที่จะให้ความรู้และสัมผัสเต่าทะเลอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แต่…ล่าสุดพบว่า เครือข่ายชาวเลอันดามัน ได้มีการออกแถลงการณ์ ปกป้องหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง หลังกำลังถูกกลุ่มทุนต่างชาติสร้างโรงแรมในพื้นที่โดยเครือข่ายชาวเลอันดามัน มีข้อเสนอดังนี้
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เร่งทบทวนการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่เพื่อสร้างโรงแรม เพราะจะส่งผลกระทบกับพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงพื้นที่วางไข่ของเต่ามะเฟือง และเขตพื้นที่นอนหาดตามวิถีวัฒนธรรมชาวเลผืนสุดท้าย และมีคำสั่งให้โรงแรมที่ได้เช่าพื้นที่ที่ต้องรื้อถอนเสารั้วลวดหนามออกและชะลอการดำเนินการใดๆจนกว่าการจะมีแนวทางการแก้ปัญหาเสร็จสิ้น
2. ให้กระทรวงการคลังยุติการดำเนินการอนุญาต ให้เช่าที่ดิน เพราะท่านจะถือเป็นผู้ทำลายล้างพื้นที่วางไข่ของเต่าและทำลายวิถีวัฒนธรรมชาวเลอันดามัน
3. ให้กระทรวงวัฒนธรรมเร่งประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ ประเพณีนอนหาดชาวเล
4. ขอให้สื่อและสังคมร่วมจับตาติดตาม ร่วมสื่อสารช่วยเรียกร้อง ไม่ให้รัฐเอื้อที่ดินชายหาดแห่งนี้ให้ทุนข้ามชาติ ให้เกิดความเป็นธรรมทางนโยบาย กฎหมาย และหยุดการใช้อำนาจทั้งจากรัฐและนายทุนผู้มีอิทธิพล
พร้อมกันนี้ชาวเลยังจะร่วมกับเครือข่ายภาคี มุ่งมั่น สู้..!! ยืนหยัด บนหลักการสิทธิและกฎหมายที่สร้างสรรค์ สันติและเป็นธรรม เพื่อรักษาแผ่นดินชายหาดไม้ขาวให้ชาวไทย ต่างชาติได้มาพักผ่อน ให้ชาวเลได้ดำรงวิถีวัฒนธรรม ให้สัตว์และพืช โดยเฉพาะเต่าทะเลได้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไปด้วยศรัทธาในพลังประชาชนและความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการบุกรุกปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองเพื่อทำโรงแรมขนาดใหญ่ ในพื้นที่อนุรักษ์หาดไม้ขาวให้เต่าทะเลวางไข่และพื้นที่ “ประเพณีนอนหาด” พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ บริเวณหาดไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลชนเผ่ามอแกลน มอแกน อูรักลาโว้ย ทั้ง 30 ชุมชนในจังหวัดพังงาและภูเก็ตกว่า 9 พันคนที่ใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดำรงประเพณี หากิน มาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2230 เป็นเวลามากกว่า 300 ปี
ทั้งนี้พื้นที่หาดไม้ขาว ตั้งแต่ พ.ศ.2554 พื้นที่นี้ได้ถูกกล่าวอ้างว่า เป็นเขตประกาศอุทยานฯสิรินาท ชาวเลก็มีการร่วมกับอุทยานฯและหน่วยงานทำกิจกรรมปลูกป่า คำนึงถึงการอนุรักษ์เต่าทะเลวางไข่ เนื่องจากชาวเลเพียงทำมาหากินชั่วคราวและทำพิธีกรรมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นเวลา 3-5 วันของทุกปี หาดบริเวณนี้จึงเป็นหาดที่สงบ เหมาะที่เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่
“การปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองนั้น เพื่อเตรียมการก่อสร้างอาคารของโรงแรม โดยพื้นที่นี้เป็นของเอกชนทุนต่างชาติประเทศสเปนร่วมกับทุนไทยในพื้นที่ เป็นเขตที่ดินราชพัสดุ ที่อาศัยนโยบาย BOI หรือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย และการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ จึงได้เช่าระยะยาว 30 ปีจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง แต่เนื่องจากก่อนปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครอง ไม่มีการศึกษา แหล่งอนุรักษ์เต่าวางไข่ ผลกระทบที่เกิดกับทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบกับกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิชนพื้นเมืองสากล หลักรัฐธรรมนูญไทย นโยบายต่าง” เครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าว
อีกทั้งยังมีมติ ครม. 1 ก.พ. 2565 ให้แก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเร่งดำเนินการเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตฯ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการดำเนินการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานวิชาการเพื่อเสนอให้มีนโยบายประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ ใน พ.ศ. 2566