คาดผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำแม่เต่ามะเฟืองสับสน พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่นอกฤดูกาลล่วงหน้าถึง 4 เดือน ที่หาดกะรน จ.ภูเก็ต เป็นครั้งแรก
นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เผยว่าเมื่อคืนวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ชาวบ้านในพื้นที่หาดกะรน จ.ภูเก็ต ได้รายงานให้กับเจ้าหน้าที่ว่า ได้มีแม่เต่ามะเฟืองขนาดใหญ่ ขึ้นมาจากทะเลเพื่อขึ้นมาวางไข่ บริเวณชายหาดหน้าโรงแรมเซนทาราแกรนด์
โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาจากทะเลราวเวลา 21.00 น. และได้ขึ้นมาขุดหลุมบนหาดทรายเพื่อวางไข่เป็นเวลาราว 35 นาที ก่อนที่จะเดินกลับลงทะเลไป จากการขุดตรวจสอบหาดทรายบริเวณดังกล่าว ไม่พบว่าแม่เต่ามะเฟืองวางไข่ คาดว่าอาจเป็นเพราะว่ามีคนเข้ามามุงดู รบกวน จนแม่เต่าไม่กล้าวางไข่
นายสุเทพ เผยว่า การขึ้นมาของแม่เต่ามะเฟืองดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่มีรายงานพบแม่เต่ามะเฟืองวางไข่นอกฤดู เนื่องจากโดยปกติแล้ว เต่ามะเฟืองจะขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ฝั่งแผ่นดินของ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนมีนาคม ของทุกปี นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ที่พบว่ามีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดกะรน
“เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากที่พบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ในช่วงเวลานี้ของปี เพราะจากการสอบถามคนท้องถิ่นก็ไม่เคยมีใครเห็นเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ในช่วงเวลานี้มาก่อน เบื้องต้นคาดว่า อาจเป็นเพราะสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในทะเล และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้แม่เต่าเกิดความสับสน และขึ้นมาวางไข่นอกฤดู” นายสุเทพ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เต่ามะเฟือง ขึ้นวางไข่ รับปีใหม่ 6 รัง ไข่ดีเกือบ 700 ฟอง สัญญาณดีทะเลไทย
อัปเดตสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก น้องๆ เป็นอย่างไร? เพิ่มหรือลดจำนวนแค่ไหน
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานขอความร่วมมือสถานประกอบการ และชุมชนในพื้นที่ ให้ช่วยตรวจตราสอดส่องชายหาดในช่วงเวลากลางคืน เผื่อแม่เต่ามะเฟืองจะกลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง และขอความร่วมมือไม่ให้ทำกิจกรรมที่อึกทึก และเปิดไฟในบริเวณชายหาด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนแม่เต่ามะเฟือง
นอกจากนี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ยังได้วางกำลังเพิ่มเติมบริเวณชายหาด เพื่อสอดส่องดูแลพื้นที่ในช่วง 2 – 3 วันต่อจากนี้ หากแม่เต่ามะเฟืองกลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้ง เพื่อที่จะได้ขนย้ายไข่เต่ามะเฟืองไปฟักอย่างเหมาะสมต่อไป เนื่องจากในฤดูกาลนี้มักจะมีน้ำทะเลขึ้นสูง จนอาจท่วมรังไข่เต่ามะเฟืองจนเสียหายได้
เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก
เต่ามะเฟืองมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นโดยเฉพาะเอกลักษณ์ที่ไม่มีเกล็ดให้เห็นเหมือนเต่าชนิดอื่น มีจุดประสีขาวบนลำตัว และมีสันเป็นแนวยาวจากหน้าถึงหลัง จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัวในปัจจุบัน
ในอดีตประเทศไทยมีประชากรเต่ามะเฟืองเป็นจำนวนมาก แต่มีการใช้ประโยชน์จากเต่าในหลายๆ ด้าน เช่น ใช้เนื้อและไข่เป็นอาหาร กระดองนำไปเป็นเครื่องประดับและเครื่องตบแต่ง ส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่ามะเฟืองลดลงจากประมาณ 2,000 รัง ในปี พ.ศ. 2500 เหลือเพียงไม่เกิน 500 รัง หรือประมาณ 20% เมื่อเทียบกับสถิติการวางไข่ในปี พ.ศ. 2535 และจากผลกระทบการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อการท่องเที่ยว ยิ่งส่งผลให้จำนวนเต่ามะเฟืองลดจำนวนลงไปอีก จนเหลือเพียงราว 10 รังต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา