ตะลึง! นักวิจัยพบ "หินจากเศษพลาสติก" บนเกาะอันห่างไกลในบราซิลและเป็นเขตอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเกิดจากขยะในทะเล และภาวะโลกร้อน ทำให้พลาสติกถูกหลอมเข้ากับหินในธรรมชาติ
นักวิจัยพบหินที่เกิดจากเศษพลาสติก หรือ ขยะในทะเล บนเกาะภูเขาไฟตรินดาจี (Trindade) ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลอยู่ห่างจากรัฐ Espirito Santo ทางตะวันออกเฉียงราว 1,140 กิโลเมตรในประเทศบราซิล แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นเขตอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยการค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการกระทำของมนุษย์มีอิทธิพลต่อวัฏจักรทางธรณีวิทยาของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Fernanda Avelar Santos นักธรณีวิทยาจาก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐปารานา กล่าวว่า "การค้นพบในครั้งนี้นับเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสะพรึงกลัว เพราะมลพิษได้แผ่ขยายไปจนกระทบโครงสร้างธรณีวิทยาแล้ว ซึ่งทางทีมได้ทำการทดสอบทางเคมีเพื่อค้นหาว่ามีพลาสติกชนิดใดบ้างที่ปะปนอยู่ในก้อนหิน โดยทางทีมเรียกหินชนิดดังกล่าวว่า “พลาสติกโกลเมอเรต (plastiglomerates)” เนื่องจากเป็นหินที่มีส่วนผสมของตะกอนและเศษอื่นๆ ที่จับตัวกันด้วยพลาสติก
“เราพบว่าพลาสติกส่วนใหญ่มาจากอวนจับปลา ซึ่งเป็นเศษขยะทั่วไปบนชายหาดตรินดาจี และถูกพัดพามาโดยกระแสน้ำทะเลจนสะสมอยู่บนเกาะแห่งนี้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น หรือภาวะโลกร้อนมากขึ้น พลาสติกจะละลายและฝังตัวอยู่กับวัตถุทางธรรมชาติบนเกาะ"
เกาะตรินดาจี เป็นหนึ่งในเขตอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญที่สุดในโลก โดยในแต่ละปีจะมีเต่าหลายพันตัวเดินทางมาวางไข่ ณ ที่แห่งนี้ ขณะเดียวกันบนเกาะนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่เพียงคนเดียวคือสมาชิกของกองทัพเรือบราซิล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลฐานบนเกาะและปกป้องที่อยู่อาศัยของเต่า
นักธรณีวิทยายังเสริมด้วยว่า "มลพิษ ขยะในทะเล และพลาสติกที่ถูกทิ้งในมหาสมุทรกำลังกลายเป็นวัสดุทางธรณีวิทยา ซึ่งจะถูกจารึกไว้ในบันทึกทางธรณีวิทยาของโลก"
ที่มาข้อมูลและภาพ : Reuters