ไม่ใช่แค่ขายกาแฟและชาร์จไฟรถยนต์ เต่าบิน เตรียมขยายโอกาสใหม่ "ตู้ก๋วยเตี๋ยว" หวังเพิ่มโอกาสพร้อมขยายตู้ในเขตพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 5,000 จุด
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาเมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตู้เต่าบินมีเครื่องดื่มรวมแล้วกว่า 200 เมนู เครื่องดื่มขายดี ได้แก่ นมและช็อกโกแลต 31%, เครื่องดื่มโซดา 26% และกาแฟ 23% ตามลำดับ และในปีหน้าอาจได้เห็นบริการขายก๋วยเตี๋ยวภายในตู้เต่าบินด้วย
ทางด้านของยอดขายและรายได้ของตู้เต่าบิน มีแนวโน้มเติบโต ทำให้บริษัทมีแผนขยายตู้เต่าบินเพิ่มจำนวน 5,000 ตู้ เป็น 10,000 ตู้ ภายในสิ้นปีนี้ จากเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มตู้เต่าบินเป็น 20,000 ตู้ภายใน 3 ปี
โดยเชื่อว่ายังมีพื้นที่การตั้งตู้ที่มีศักยภาพอีกมาก หลังผู้บริโภคเริ่มรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้นจากกิจกรรมทางการตลาดที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนฐานลูกค้ากว่า 4 ล้านราย ที่มีการสมัครใช้บริการผ่านเบอร์โทรศัพท์
นอกจากนี้ ในปี 2567 จะได้เห็นธุรกิจที่เป็นความร่วมมือระหว่างผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น สถานีบริการที่มีการรวมกันของตู้ชาร์จไฟฟ้ากิ้งก่าและตู้เต่าบินก็เป็นได้
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมแผนลงทุนด้านการตลาดสำหรับ ตู้เต่าบินไว้อีกกว่า 100 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าจะมียอดขายแตะที่ 3,000 ล้านบาทได้ จากสิ้นปี 65 มีรายได้อยู่ราว 1,500 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจตู้ชาร์จไฟฟ้ากิ้งก่า หรือ “GINKA Charge Point” ที่เปิดตัวไปแล้วในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทมองเป็นธุรกิจ New S-curve ใหม่สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่จะเข้ามาสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจเดิมอย่างตู้บุญเติม
โดยบริษัทมีแผนเปิดสถานีให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2567 ร่วมกับการให้บริการของธุรกิจตู้เต่าบินภายในสถานีฯ
สำหรับในปีนี้ตั้งเป้าขยายจุดให้บริการชาร์จไฟ 5,000 จุด โดยเป็นการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ เช่น คอนโดมิเนียม, โรงพยาบาล, ห้างสรรพสินค้า, สนามกอล์ฟ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทน อย่างมีนัยสำคัญได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ตามแผนการขยายจุดให้บริการชาร์จไฟได้ถึง 15,000 จุด สอดคล้องจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนถึง 1 ล้านคัน จากปัจจุบันที่มีราว 1 แสนคัน
อย่างไรก็ตาม ทาง FORT ก็ยังไม่ทิ้งเรื่องของการให้บริการตู้เอทีเอ็ม ใน ส่วนธุรกิจให้บริการทางการเงิน ซึ่งตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ภายในปีนี้
โดยมองว่าเป็นระดับวงเงินที่สามารถควบคุมหนี้เสียได้ (NPL) ต่ำกว่าระดับ 5% จากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของ “Boonterm Big Data” ทดลองให้บริการสินเชื่อกับลูกค้าราว 30,000 รายในปีที่ผ่านมา
ขณะที่การเปิดให้บริการตู้ ATM ล่าช้าจากปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่า จะสามารถเปิดตัวการให้บริการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ภายในกลางปีนี้ 1 ราย และช่วงสิ้นปีอีก 1 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบให้สามารถรองรับกับธนาคาร