svasdssvasds

พบ "เพนกวินด่าง" เดินเล่นที่ขั้วโลกใต้ - ชิลี สวยงามเรียกสายตา (ผู้ล่า) !

พบ "เพนกวินด่าง" เดินเล่นที่ขั้วโลกใต้ - ชิลี สวยงามเรียกสายตา (ผู้ล่า) !

"เพนกวินด่าง" เพศเมีย สายพันธุ์เจนทู โผล่ที่ประเทศชิลี ในสภาพขาวเผือกทั้งตัว แม้ดูสวยงาม แต่สัตวแพทย์แจ้งว่า อาจเป็นข่าวร้ายเพราะ ภาวะด่างนั้นอาจทำให้ผู้ล่าง่ายต่อการสังเกตเห็น

ประเทศชิลี พบ “เพนกวินด่าง” เพศเมีย สายพันธุ์เจนทู (Gentoo Penguin) ที่สถานีวิจัยกาเบรียล กอนซาเลซ วิเดลา ในพื้นที่ขั้วโลกใต้ของประเทศชิลี เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ความพิเศษ (ที่อาจเป็นภัย) ของเพนกวินตัวนี้คือ เป็นเพนกวินที่มี "ภาวะด่าง" หรือที่เรียกว่า leucism  

เพนกวิน สายพันธู์เจนทู เกิดภาวะด่าง ทำให้มีสีขาวทั้งตัว Cr. Reuters

ภาวะด่างเกิดขึ้นได้อย่างไร?

“ดิเอโก เปนาโลซา” สัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ซาฟารพาร์ต ระบุว่า ภาวะด่างเป็นสภาพทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ขนของสัตว์สูญเสียเม็ดสีไป

และเมื่อเพนกวินที่เกิดภาวะด่างขึ้น บริเวณลำตัวจะกลายเป็นสีซีดเผือก ว่าง่าย ๆ คือ สีดำบนตัวหายไป คำถามถัดมาคือ เมื่อเพนกวินสูญเสียสีดำไป จะมีผลอะไรตามมาหรือไม่?

เพนกวินเจนทูที่เกิดภาวะด่างขาว เกิดขึ้นได้ยากเพราะเสี่ยงถูกล่า Cr. Reuters

อย่าเด่น จะเป็นภัย

หากเรา POV ตัวเองในฐานะผู้ล่า มองไปที่ฝูงเพนกวินที่ปกติแล้วมักอยู่รวมกันเป็นฝูง บางแหล่งอยู่รวมกันเป็นหลักหมื่นตัว (ครอบครัวอบอุ่นมาก) ดังนั้น ผู้ล่าก็จะไม่ได้โฟกัสตัวใดเป็นพิเศษ เพราะคงจะตาลายเสียก่อน

ภาวะด่างทำให้เพนกวินตกเป็นเป้าของผู้ล่า Cr. Reuters

ทำให้หากผู้ล่าจะเข้าไปจะครุบเพนกวินเป็นอาหารจำต้องสุ่มเอาเอง แต่เมื่อสีดำบนตัวหายไป เจ้าเพนกวินสายพันธุ์เจนทูตัวนี้ ก็จะเด่นเด้งออกมาทันที อารมณ์เหมือนว่า “ท่ามกลางผู้คนมากมาย ผมโฟกัสแค่คุณ”

ดังนั้น ในมุมวิวัฒนาการ เพนกวินจะไม่เพิ่มด่างขาวมาไว้บนตัวเด็ดขาด เพราะถ้ามีเท่ากับเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั่นเอง สรุปคือ เพนกวินด่างตัวนี้ คงต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี เพราะน่าจะตกเป็นเป้าสายตาของผู้ล่าเป็นที่เรียบร้อย

 

 

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related