'ไมโครพลาสติก' เจือปนอยู่ในเนื้อสัตว์มากถึง 88% การศึกษาจากสหรัฐ พบ การกินเนื้อสัตว์อาจหมายถึงการกินพลาสติก ในแต่ละปีอาจเทียบได้กับการกลืนพลาสติกลงท้อง 11,500 ชิ้น
ว้าวุ่นกันเลยทีเดียว เมื่อผลการศึกษาล่าสุดจากสหรัฐ เผยว่า เนื้อสัตว์ที่ขายตามห้างร้านอาจมีไมโครพลาสติกเจือปนมากถึง 88% มิเพียงแค่เนื้อสัตว์บก อย่าง วัว หมู หรือไก่ แต่รวมถึงอาหารทะเลด้วย
หากไปดูข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ พบว่า ชาวอเมริกันบริโภคเนื้อมากถึง224.6 ปอนด์ต่อคน ด้วยตัวเลขนี้ คาดหมายว่า ชาวมะกันอาจบริโภคไมโครพลาสติกลงท้องไปถึง 11,500 ชิ้น ลิสต์อาหารที่เข้าข่ายเจือปนไมโครพลาสติกล้วนเป็นอาหารที่คนนิยมบริโภคอยู่เป็นประจำ อาทิ เนื้อสัตว์ทะเล ไก่ เนื้อวัว
คนโปรดเนื้อฟังทางนี้ เพราะหากคุณชอบทานเนื้อเป็นชีวิตจิตใจ มีแนวโน้มสูงมากที่คุณกำลังกลืนพลาสติกลงท้อง มีข้อมูลหนึ่งที่พอจะคาดการณ์พฤติกรรมคร่าว ๆ ต่อการบริโภคเนื้อของคนไทย เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น
การสำรวจของ Madre Brava ได้เก็บแบบสอบถามจากคนไทย 1,500 ราย พบว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะลดบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และมีเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นมังสวิรัติ และกว่า 44% ที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์
แม้จะเป็นเพียงการสำรวจเล็ก ๆ แต่พอจะบอกเราได้ว่า คนไทยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมมการกินเป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังมีความรู้ความเข้าใจด้วยว่า การบริโภคเนื้อสัตว์นั้นสร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างไร
นั่นเป็นเรื่องที่ดี ส่วนเรื่องร้ายคือ ไมโครพลาสติกที่ปนอยู่ในเนื้อสัตว์นี่แหละ ที่กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เลิกกินก็ไม่ได้ ว่าง่าย ๆ คือ เราถูกมัดมือชกให้กินพลาสติกลงท้องไป จากอาหารประเภทเนื้ออย่างเลี่ยงไม่ได้
มิใช่แค่เพียงอาหารบนบกเท่านั้นที่มีไมโครพลาสติกเจือปน แต่ยังรวมถึงอาหารทะเลด้วย ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า ไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ทะเลจากขั้นตอนใด แต่หากเราไม่ปิดหูปิดตา ก็อาจแปลความได้ว่า ทะเลมีขยะพลาสติกอยู่เนืองแน่น แน่นมากพอจนไปแอบอิงอยู่บนสัตว์ทะเลทั้งหลาย
มันต้องพอมีทางออกสำหรับเรื่องนี้บ้างหน่า...
ดร. บริตตา แบชเลอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์พลาสติกที่ Ocean Conservancy กล่าวว่า “ไม่ว่าคุณจะกินอะไร คุณก็ไม่สามารถหนีไมโครพลาสติกได้ วิกฤตมลพิษพลาสติกกำลังกินเรากลับแบบเงียบ ๆ”
ทั้งนี้ ข้อสันนิษฐาน ณ ปัจจุบันคาดการณ์ถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ขั้นตอนการแปรรูปอาหารมีสิทธิ์สูงมากที่จะเกิดการเจือปนขึ้น เพราะในกระบวนการแปรรูปนั้น ต้องผ่านอุปกรณ์หลายชิ้นที่ทำจากพลาสติก อาทิ สายพานลำเลียง เสื้อผ้าของคนงาน รวมถึงอุปกรณ์ลำเลียงชนิดอื่น ๆ เช่น ถุง หรือกระสอบ
แต่ขั้นตอนที่ง่าย (และยากที่สุด) ที่เราจะปลอดภัยจากไมโครพลาสติก คือร่วมมือกันไม่สร้างขยะพลาสติกเพิ่มให้ได้มากที่สุด
อ่านเพิ่ม: ไมโครพลาสติกอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร?
ที่มา: The Hill
เนื้อหาที่น่าสนใจ