อินเดีย เริ่มปี 2024 ด้วยการปล่อย "XpoSat" หรือ "X-ray Polarimeter Satellite" ดำเนินโครงการโดยองค์กรวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) มีภารกิจศึกษาข้อมูลรายล้อมเกี่ยวกับหลุมดำ หนึ่งในสถานที่พิศวงแห่งหนึ่งของโลก โดยจะมุ่งเน้นไปที่การแผ่รังสี
เริ่มปีใหม่ก็เดินเครื่องทันที สำหรับแดนภารตะ ที่ปีนี้ส่งยานอวกาศไร้คนขับ XpoSat ออกสู่วงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) โดย องค์กรวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ระบุว่า การส่งยานอวกาศลำนี้ไปก็เพื่อศึกษาการแผ่รังสีของหลุมดำในเอกภพ
ก่อนหน้านี้ อินเดียปล่อยยานอวกาศเป็นปกติอยู่แล้ว อาทิ อาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) (สำรวจดวงอาทิตย์) หรือ จันทรายาน-3 ที่สามารถลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมของปี 2023
ถึงกระนั้น อินเดียก็ไม่ลดละความพยายามในการศึกษาเอกภพ ด้วยการส่ง XpoSat ออกไปอีก แต่ครั้งนี้ปักหมุดไว้ที่การศึกษาหลุมดำ ระยะเวลาของโปรเจกต์คาดว่ากินเวลาประมาณ 5 ปี XpoSat มีภารกิจยิบย่อยอะไรบ้าง และทำไมอินเดียหันมาให้ความสนใจหลุมดำ ติดตามได้ที่บทความนี้
XpoSat คืออะไร?
“XpoSat” หรือในชื่อเต็มว่า “X-ray Polarimeter Satellite” เป็นยานอวกาศลำแรกที่อินเดียส่งไปนอกโลกในปี 2024 โดยมีภารกิจหลักคือ ศึกษาข้อมูลจากหลุมดำ (Black Hole)
ยานอวกาศถูกปล่อยออกไปนอกโลกในวงโคจรต่ำ (ประมาณ 650 กิโลเมตร) ดำเนินโครงการโดย องค์กรวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ทำให้ตอนนี้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 2 ต่อจากสหรัฐที่มีหอดูดาวของตัวเองเพื่อใช้ศึกษาหลุมดำโดยเฉพาะ
ภารกิจของ XpoSat มีอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นขอเรียนให้ทราบว่า ยานอวกาศลำนี้คาดว่ามีระยะเวลาศึกษาประมาณ 5 ปี ดังนั้น ในช่วงต้นปีของปี 2029 จะถือเป็นอันสิ้นสุดภารกิจ คำถามถัดมาคือ อินเดียส่งยานลำนี้ไปทำอะไร?
ที่บอกว่าศึกษาเกี่ยวกับหลุมดำนั้น เป็นเพียงยอดน้ำแข็งเท่านั้น ทว่า ในรายละเอียดมีภารกิจยิบย่อยที่ XpoSat ได้รับคำสั่งให้ไปเก็บข้อมูลและส่งมายังโลก
XpoSat จะเร่งศึกษาการแผ่รังสีจากหลุมดำโดยใช้รังสีเอ็กซ์ นอกจากนี้ จะศึกษาเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์ในจักรวาลอีกด้วย
อินเดียได้อะไรจากการศึกษาหลุมดำ?
“หลุมดำ” สถานที่สุดพิศวงในเอกภพ ที่แม้แต่จินตนาการของ Isaac Asimov ก็อยากแท้หยั่งถึง ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยเดอรัม ประเทศอังกฤษ ได้ตีพิมพ์การค้นพบหลุมดำที่มีมวลมหาศาลประมาณ 32,000 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ (อะไรจะขนาดนั้น)
หลุมดำดังกล่าวอยู่ใจกลาง Galaxy “Abell 1201” หากจากโลกของเราออกปีประมาณ 2,700 ปีแสง ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ ในแวดวงอวกาศศึกษา ยังคงมีความพยายามศึกษาเรื่องหลุมดำอยู่ตลอดอยู่แล้ว
หัวโจกในเรื่องนี้ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วอย่าง Stephen Hawking ก็ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับหลุมดำเอาไว้ได้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่กระนั้น หลุมดำก็ยังเป็นสถานที่พิศวงอยู่ดี เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ตำแหน่งของ หลุมดำแบบเป็นที่มั่นเหมาะได้สักที
ทั้งนี้ เหตุผลที่อินเดียส่งยานอวกาศไปศึกษาหลุมดำนั้น มิใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหม่ เพราะหากเราตัดคำว่า “ชาติ” ออกไปจากสมการ การมียานอวกาศไปลอยล่องอาจทำให้มนุษย์พบเจอกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้
ที่มา: ngthai , indianexpress
เนื้อหาที่น่าสนใจ