สารครีมกันแดด ถูกพบที่ขั้วโลกเหนือ โดยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ca' Foscari จากประเทศอิตาลี โดยเก็บตัวอย่างน้ำแข็งจาก 5 แห่งทั่วคาบสมุทร Brøggerhalvøya ย้ำ! ต้องศึกษาต่อว่ามีสารเคมีภัณฑ์ปนเปื้อนในน้ำแข็งได้อย่างไร?
อาบแดดที่ขั้วโลกเหนือ
ใครมานอนอาบแดดแถวขั้นโลกเหนือกันเนี่ย? พบร่องรอยของสารกันแดดบนธารน้ำแข็งของหมู่เกาะสฟาลบาร์ด (Svalbard) ตั้งอยู่ที่พิกัดระหว่างนอร์เวย์กับขั้วโลกเหนือ
หลายคนอาจสงสัยว่า แถวนั้นมีเคยอาศัยอยู่ด้วยอย่างนั้นหรือ ท่ามกลางอากาศ-40 องศาเซลเซียส เนี่ยนะ? จริง ๆ แล้วมี ทว่า มีประชากรเพียงหยิบมือเท่านั้นที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะสฟาลบาร์ด ประมาณ 2,650 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวรัสเซีย และเป็นชาวโปแลนด์ ยูเครน ลดหลั่นกันไปตามลำดับ
การค้นพบในครั้งเกิดจากศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ca' Foscari จากประเทศอิตาลี สถาบันวิจัยขั้วโลก (Institute of Polar Science) สภาวิจัยแห่งชาติอิตาลี ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยในสฟาลบาร์ด ทีมวิจัยกลุ่มนี้ พบสารจากครีมกันแดด และได้ตรวจสอบความเข้มข้น ผลลัพธ์จากการศึกษาดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment
เป้าประสงค์ของการศึกษา
ใช่ว่ายู่ดี ๆ จะเดินไปแล้วตรวจหาสารจากครีมกันแดดเลย ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้ ปักธงการศึกษาไว้ว่า ต้องการหาสารจากผลิตภัณฑ์ส่วนตัว ที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยปักแหล่งการศึกษาไว้ที่ขั้วโลกเหนือเท่านั้นเอง
แม้ขั้วโลกเหนือดูจะไม่ใช่ที่ซึ่งมีแดดอะไรมากมาย แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ก็ยังอุตส่าพบสารจากครีมกันแดดได้ โดยนักวิจัยเก็บตัวอย่างจากธารน้ำแข็ง 5 แห่ง ทั่วคาบสมุทร Brøggerhalvøya โดยตัวอย่างน้ำแข็งจากแต่ละหลัง ถูกเก็บด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันคือ ใกล้กับที่อยู่ของมนุษย์ กับที่ไกลปืนเที่ยง
ผลลัพธ์เผยให้เห็นว่า น้ำแข็งถูกปนเปื้อนไปด้วยสารประกอบผลิตภัณฑ์ส่วนตัวของมนุษย์ อาทิ น้ำหอม หรือครีมกันแดด
Marianna D'Amico นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ขั้วโลก จากมหาวิทยาลัย Ca' Foscari กล่าวถึงผลการศึกษาว่า เธอพบสารปนเปื้อนจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยถูกพบที่ขั้วโลกเหนือมาก่อน อาทิ Benzophenone-3, Octocrylene, Ethylhexyl Methoxycinnamate และ Ethylhexyl Salicylate
Andrea Spolaor หนึ่งในผู้วิจัยสรุปขยักถัดไปของการศึกษาในครั้งนี้ไว้ว่า ต้องมีการศึกษาต่อไปว่าสารปนเปื้อนเหล่านี้ถูกขนส่งในลักษณะใด และเคมีเหล่านั้นไปสะสมอยู่ในน้ำแข็งได้อย่างไร
อยู่ขั้วโลกต้องทาครีมกันแดดไหม?
คิดอะไรไม่ออก ขอให้ทาครีมกันแดดไว้ก่อน คำนี้ไม่เกินจริง เพราะแม้แต่สถานที่อย่างขั้วโลกเหนือ สถานที่ซึ่งดวงอาทิตย์ไม่ค่อยโผล่เหนือขอบฟ้าสักเท่าไร กลับเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสำหรับผิวที่อาจได้รับอันตรายจากรังสี UV
เหตุเพราะ หิมะมีคุณสมบัติสะท้อนแสงได้สูง ทำให้แสงอาจสะท้อนเข้าดวงตา หรือผิวพรรณได้ ในช่วงทศวรรษ 90s กิจกรรมของมนุษย์ในภาพใหญ่ เริ่มส่งผลกับชั้นโอโซนโลก และมีผลอย่างรุนแรงในบริเวณแถบขั้วโลก
ชั้นโอโซนในชั้นสตาร์โทสเฟียร์เสียหายไปมาก กระทั่งทำให้รังสี UV สะท้อนลงมายังขั้วโลกเหนือได้มากยิ่งขึ้น มิเพียงเฉพาะมนุษย์ที่จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ไปเต็ม ๆ แต่สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ การดูดซับแสงของพืช อาจต้องปรับตัวเช่น ใบของพืชหนาขึ้น สัตว์น้อยใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
เนื้อหาที่น่าสนใจ