อินเดียคือประเทศที่มี "สุนัขจรจัด" มากที่สุดในโลก มากถึง 65 ล้านตัว ทำให้มีเคสรายงานว่า ถูกสุนัขกัดมากถึง 2.5 ล้านเคส แต่แทนที่จะจัดการกับสุนัขจรจัด ซึ่งถูกยึดโยงเข้ากับความเชื่อเรื่องศาสนา รัฐบาลอินเดียกลับยอมจ่ายให้กับผู้ถูกสุนัขกัดแทน ติดตามได้ที่บทความนี้
“พวกเขาไม่มีปัญญาย้ายสุนัขหรอก ไม่มีใครอยากรับผิดชอบเรื่องนี้ทั้งนั้น”
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่เมืองอาห์เมดา (Ahmedabad) ประเทศอินเดีย มีการรายงานว่า หัวหน้าบริษัทชายรายใหญ่ อายุ 49 ปี ถูกสุนัขวิ่งไล่กัดจนเสียชีวิต ขณะกำลังเดินเล่นยืดแข้งยืดขาในตอนเช้า
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี มีเด็กวัย 2 ขวบและ 11 ขวบ ถูกสุนัขจรจัดกัดจนเสียชีวิต ถือเป็นเรื่องชวนหดหู่ใจอยู่ไม่น้อย เมื่อเด็กที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องถูกสัตว์เล่นงานจนถึงชีวิต
เปิดหัวมาด้วยเคสการเสียชีวิต ก็เพื่อจะสื่อว่าแดนภารตะกำลังประสบปัญหาสุนัขจรจัดเกลื่อนเมือง โดยสร้างภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์เป็นอย่างมาก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปี อินเดียมีเคสที่ถูกบันทึกว่าถูกสุนัขกัด 2.5 ล้านเคส
ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจตาถลนเมื่อได้เห็นจำนวนเคสที่เกิดขึ้น แต่อาจจะไม่ตกตะลึงเท่าไรนัก หากรู้ว่า อินเดียคือประเทศที่มีสุนัขจรจัดมากที่สุดในโลก โดยมีมากถึง 65 ล้านตัว! สรุปตาถลนกว่าเดิม เพราะ 65 ล้านตัว เกือบเทียบเท่าประชากรของประเทศไทยทั้งประเทศ
ทำไมอินเดียถึงมีสุนัขจรจัดเยอะ?
หากกลับไปค้นการศึกษาในปี 2021 พบว่า จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเขตเมืองที่อุดมไปด้วยอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากตลาดสด กองขยะ ตามถนนหนทาง และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ เมืองที่มนุษย์คอยให้อาการสุนัขอยู่เรื่อย ๆ
ทั้งนี้ ในแง่กฎหมาย ซึ่งถูกเขียนไว้ว่าไม่อนุญาตให้ย้ายหรือฆ่าสุนัขจรจัด แต่มาตรการของรัฐบาลต่อปัญหาสุนัขจรจัดที่พยายามทำคือ การทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัขเพื่อควบคุมประชากร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการคุมกำเนิดของสัตว์ที่ถูกร่างขึ้นในปี 2001
ทว่า...
กระบวนการทำหมันสุนัขจรจัดมีราคาค่างวดที่แพงหูฉี่ แล้วยิ่งแพงเข้าไปใหญ่เมื่อต้องจัดการกับสุนัขกว่า 65 ล้านตัว ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แถมการบริหารงานในเรื่องนี้ก็ไม่มีเสถียรภาพมากพอที่จะจัดการปัญหาสุนัขจรจัดได้อยู่หมัด เฉกเช่นในญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์
ชาวอินเดียคิดเห็นอย่างไรต่อน้องหมาสี่ขา?
“นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไร้ประสิทธิภาพ” Meet Ashar ทนายความด้านสิทธิสัตว์ซึ่งทำงานร่วมกับ PETA ในอินเดีย กล่าว
ต้องเรียนอย่างนี้ว่า เมื่อหัวข้อเรื่องสัตว์ถูกดึงขึ้นมาในบทสนทนา ความคิดเห็นมักแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ใจบาง เห็นใจสัตว์โลก กับอีกฝ่ายที่เกรี้ยวกราด ต้องกำจัดทิ้ง โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะพูดว่าฝ่ายใดถูก
Keep The World ชวนสำรวจน้ำเสียงของทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมฟังเหตุผล ว่าทำไมพวกเขาถึงคิดเช่นนั้น
ด้านผู้สนับสนุนสวัสดิภาพสัตว์ อาทิ Bhadra กล่าวว่า ให้ประชาชนอินเดียรับหมาเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อที่จะลดหรือแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด
ทว่า ทางฝ่ายกู้ภัยสุนัขจรจัด ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นของชาวอินเดียที่มีต่อสุนัขจรจัดไว้ว่า
“ไม่มีใครอยากรับสุนัขจรจัดไปเลี้ยงหรอก พื้นที่ในบ้านไม่พอให้สัตว์อยู่อาศัย สุดท้ายพวกเขาก็ปล่อยสุนัขให้เร่ร่อนแบบเดิม” Sunil Yadav ผู้จัดการศูนย์สวัสดิภาพสัตว์ในเมืองมุมไบ กล่าว
มาตรการแบบถั่วสุกงาไหม้
ถึงตรงนี้ อาจเกิดความรู้สึกว่าปัญหาสุนัขจรจัดในอินเดียนั้นหนักหนาสาหัสมาก ทำไมรัฐบาลถึงไม่แก้ไขสักที อันที่จริงรัฐบาลได้ใช้อำนาจสั่งการแก้ไขในเรื่องนี้แล้ว แต่วิธีที่รัฐบาลอินเดียเลือกใช้นั้น อาจฟังดูพิลึกพิลั่นเล็กน้อย
ศาลอินเดียอนุมัติต้นทุนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าเสียหายให้กับผู้ถูกสุนัขจรจัดกัด ในเมื่อควบคุมไม่ได้ ก็เอาเป็นว่าขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวกันเอง แล้วถูกกันเมื่อไหร่ก็มารับเงินจากรัฐไป คำถามต่อมาคือ แล้วรัฐให้เงินเท่าไรสำหรับผู้ที่ถูกสุนัขจรจัดกัด?
เหยื่อถูกสุนัขจรจัดกัดจะได้รับเงินชดเชย 10,000 รูปี (4,216 บาท) โดยคิดต่อ 1 งับ และหากเนื้อของคุณฉีกขาดหลุดติดไปกับคมเขี้ยวของมะหมาสี่ขา คุณจะได้เงินดูแลรักษาราว 20,000 รูปี (8,432 บาท) คุ้มไหมล่ะเนี่ย?
ปัญหาแก้ไม่จน เพราะถูกครอบด้วยกรอบ “ความเชื่อ”
สุนัขในวัฒนธรรมถือว่าเป็น “Some body” เพราะในประเทศอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู มีความเชื่อเรื่องสุนัขที่ยึดโยงกับเทพแห่งความตายของศาสนาฮินดู ชื่อว่า ยามะ (Yama) ว่ากันว่าเป็นเทพผู้เฝ้าประตูเมืองนารากะ (Naraka) ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงคู่กายเป็นสุนัข
“สุนัขเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียมาโดยตลอด” Sirjana Nijjar ผู้จัดการอาวุโสของสหพันธ์องค์กรคุ้มครองสัตว์แห่งอินเดีย กล่าว
ที่มา: Bloomberg
เนื้อหาที่น่าสนใจ