พายุฝุ่น-ทราย กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และเกิดบ่อยขึ้น ทำทวีปเอเชีย-แอฟริกาเจ็บหนัก สูญเสียที่ดินทำการเกษตรไปอย่างน้อย 25% ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ กิจกรรมของมนุษย์อาทิ การทำเหมือง ฟาร์มปศุสัตว์ "เป็นตัวเร่ง" พายุ
เป็นปัญหาอยู่ทุกปี สำหรับพายุฝุ่นหรือพายุทราย ที่เดินหน้าถล่มบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรจนย่อยยับ บ้านเรือนและทรัพย์สิ้นของประชาชนได้รับความเสียหายหนัก
ภัยพิบัตินี้แม้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มีการรายงานว่า องค์ประกอบสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพายุบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ “กิจกรรมของมนุษย์”
มลพิษและกิจกรรมของมนุษย์ กำลังส่งผลกระทบ ทำให้เกิดพายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้พื้นที่เพาะปลูกและที่ดินลดลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
โดยจากรายงานของสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้พบว่า โลกของเรากำลังสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกและที่ดินมากถึงปีละประมาณ 386,000 ตารางไมลส์ หรือประมาณ 1 ล้านตารางกิโลเมตร
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศูนย์ป้องกันการกลายสภาพเป็นทะเลทรายของสหประชาชาติ หรือ UNCCD เปิดเผยรายงานฉบับหนึ่งซึ่งพบว่า พายุทรายและฝุ่น ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในทวีปแอฟริกาและเอเชีย
โดยจากรายงานพบว่า ปัจจัยอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ที่ทำให้เกิดพายุทรายก็คือ กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองมากเกินไป และการทำปศุสัตว์ที่มากเกิน
ในแต่ละปี มีทรายและดินมากถึงประมาณ 2,000 ล้านตันถูกพัดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และน้ำหนักของมันจะเทียบเท่ากับมหาพีระมิดกิซาในประเทศอียิปต์ถึง 350 พีระมิดรวมกัน
อิบราฮิม เธียว เลขาธิการบริหารของ UNCCD เปิดเผยว่า เรากำลังอยู่ในวงจรอันเลวร้าย ซึ่งการทำลายที่ดินเป็นปัจจัยที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรงขึ้น และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็กลับมาทำให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินบนโลกรุนแรงขึ้น
เธียวยังอธิบายต่ออีกด้วยว่า พายุทรายยังก่อให้เกิดปัญหาทำให้ที่ดินจำนวนมากไม่สามารถทำฟาร์มได้ มันส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตอาหารของมนุษย์ ในบางประเทศที่ค่อนข้างเปราะบางบนโลกใบนี้
UNCCD แนะนำว่า ควรมีการใช้มาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกและที่ดิน หนึ่งในนั้นเช่น การจัดหางบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งนับจนถึงขณะนี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คนเท่าปัญหามลภาวะอื่นๆที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์
เนื้อหาที่น่าสนใจ