รูอาล อามึนเซิน นักสำรวจชาวนอร์เวย์ ผู้พิชิตขั้วโลกใต้เป็นคนแรก และถือเป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ ในวันที่ 14 ธ.ค. 1911 แต่กว่าจะทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ได้ ขวากหนามระหว่าง ก็แหลมคมไม่แพ้กัน Spring ชวนติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่บทความนี้
“ชัยชนะจะเป็นของผู้ที่เหมาะสมเสมอ หรือจะเรียกว่า ‘คนมีโชค’ ก็ได้”
คนที่เกือบไปถึงขั้วโลกใต้
14 ธ.ค. 1911 เวลาสามโมงตรง คือช่วงเวลาที่อามึนเซินปักธงชาตินอร์เวย์ลงบนน้ำแข็งขาวโพลน สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นการมาเยือนโลกน้ำแข็งเป็นครั้งแรกของมนุษย์
ก่อนที่ รูอาล อามึนเซิน จะเดินทางไปถึงขั้วโลกใต้ในปี 1911 ถอยกลับไปไม่นาน ในปี 1902 โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ ทหารเรือชาวอังกฤษ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินทางไปยังขั้วโลกใต้เป็นคนแรกของโลก
ทว่า คลื่นปัญหาซัดถาโถม ทั้งการเดินทางที่ยาวนาน อากาศที่เย็นยะเยือกถึงกระดูก ท่ามกลางมหาสมุทรอันหฤโหด ทำให้สกอตต์และคณะ ตัดสินใจหันเรือกลับเพราะสุขภาพของตัวเองและคนบนเรือดูท่าไม่ค่อยดี จึงเอาชีวิตรอดไว้ก่อน
จนเวลาล่วงเลยไปถึงปี 1912 สกอตต์และคณะเตรียมความพร้อม อุปกรณ์ เครื่องนุ่งห่ม เสบียง และข้าวของที่ช่วยให้สามารถเอาชีวิตรอดได้ท่ามกลางบรรยากาศติดลบหลายองศา จนในที่สุดพวกเขาก็เดินทางนำธงประเทศอังกฤษไปปักไว้บนน้ำแข็งขาวโพลนได้สำเร็จ
ทว่า...
เหลือบมองซ้ายมองขวา พวกเขาก็พบกับธงชาติของประเทศนอร์เวย์ปักไว้อยู่ก่อนแล้ว บ่งบอกว่ามีคนเคยมีเยือนที่นี่แล้ว ซึ่งเขาคนนั้นก็คือ รูอาล อามึนเซิน ที่ได้เดินทางไปถึงขั้วโลกใต้สำเร็จในวันที่ 14 ธ.ค. 1911 เวลาบ่ายสามโมง
ช่างเป็นเรื่องที่น่าข่มขื่นยิ่งนัก เพราะราคาที่ต้องจ่ายในการเดินทางครั้งนี้ของสกอตต์คือ ชีวิตของผู้บังคับการเรือ Edgar Evans
“I am just going outside and may be some time”
“ขอตัวไปข้างนอกแปปนะ เดี๋ยวกลับมา” คำพูดสุดท้ายจาก Edgar Evans
ดราม่ากันตั้งแต่เริ่ม เอาเป็นว่าขอเชิญผู้อ่านร่วมสำรวจการเยือนขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ด้วยการแกะรอยการเดินทางของชายชาวนอร์เวย์ชื่อว่า “รูอาล อามึนเซิน”
อาล อามึนเซิน คือใคร?
รูอาล อามึนเซิน เกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 1872 ที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ แม้เราจะรู้จักเขาในฐานะนักสำรวจ นักเดินเรือ หรือผู้พิชิตขั้วโลกใต้ก็ตาม ทว่าก่อนหน้านี้ เขาเคยศึกษาการแพทย์มาก่อน
แต่อย่างว่า ชาวนอร์เวย์หากไม่เคยได้สัมผัสเรือ ก็เหมือนกับคนไทยที่ไม่เคยขึ้นรถเมล์ อามึนเซิน เริ่มออกเดินทางด้วยเรืออย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1897 เขาเดินทางไปกับคณะสำรวจชาวเบลเยียม และเมื่อได้นั่งอยู่บนเรือที่แล่นอยู่บนน่านน้ำ เขาก็ติดใจ และหลงรักการเดินเรืออย่าง “โงหัวไม่ขึ้น”
จนกระทั่งมาถึงปี 1911 ปีอันเป็นหมุดหมายในประวัติศาสตร์ ที่ตอกความจริงอีกข้อของมนุษยชาติว่า มีมนุษย์เดินทางไปเยือนขั้วโลกใต้ได้เป็นครั้งแรก
ก่อนจะไปถึงปี 1911 ต้องบอกว่า ช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น อามึนเซินได้ฝึกปรือวิชาการเดินเรือจนชำนาญ และถือเป็น “เต้ย” ด้านการเดินเรือคนหนึ่ง สมมติอามึนเซินจะไปสมัครงาน แล้วต้องยื่นเรซูเม่ นี่คือ “ผลงาน” ของเขา
หากคุณเป็นบริษัท ที่กำลังหาต้นหนเรือสักคน คุณจะรับใบสมัครงานของเขาไหม?
เส้นทางเดินเรือของอามึนเซิน
ในวันที่ 18 ต.ค. 1911 อามึนเซิน เริ่มออกเดินเรือ โดยตัดสินใจเริ่มต้น route การเดินทางที่อ่าววาฬ (Bay of Whales) เป็นท่าเรือน้ำแข็งตามธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา ต้องเรียนตรงนี้ก่อนว่า อามึนเซินเดินทางไปที่ขั้วโลกใต้ด้วยทักษะแบบ “มวยวัด” เพราะไร้การสนับสนุนใดใด ไปด้วยความรู้ที่มี พร้อมกับอุปกรณ์ที่พอจะหาได้และปลอดภัย
มีคนมาวิเคราะห์กันภายหลังว่า กลุ่มของอามึนเซินเลือกเดินทางขึ้นเหนือไปทางหิ้งน้ำแข็งรอสส์ ซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าที่ราบสูงขั้วโลก หมายความว่า พวกจะไม่ถูกสภาพอากาศเล่นงานมากนัก และใช้เวลาไม่นานในสภาพอากาศที่เย็นจัด
ผ่านเวลาไปหลายวัน ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ในที่สุดกลุ่มของอามึนเซินก็เดินทางถึงขั้วโลกใต้สำเร็จ กลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกของโลกที่สามารถเดินทางมาเยือนขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ ในวันที่ 14 ธ.ค. 1911 เวลาสามโมงตรง
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น ว่าคณะเดินทางของสกอตต์ก็กำลังมุ่งหน้ามาที่ขั้วโลกใต้เช่นเดียวกัน เมื่อได้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงขั้วโลกใต้ “ไม่มีใครจำที่ 2” แม้สกอตต์จะไม่ได้กล่าว แต่ความจริงย่อมเป็นเช่นนั้น
เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างหนักของมนุษยชาติ ที่จะพิชิตสถานที่ใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่าการล่าอาณานิคมจากพื้นที่ที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบ
โน๊ตไว้เล็ก ๆ ว่า โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ เป็นชาวอังกฤษ มีเรื่องเล่าว่าเขาและคณะได้รับทุนการสนับสนุนจากกองทัพเรือและรัฐบาลอังกฤษในสมัยนั้นเป็นเงิน 20,000 ปอนด์ และหากปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว สกอตต์ได้ค่าเดินทางเป็นเงินทั้งสิ้น 27,247,141 บาท
เกร็ด: เนื่องจากกลุ่มของอามึนเซินเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการเดินทางไปยังขั้วโลกใต้ด้วยเรือ ชีวิตบนเรือจึงมีความลำบากอย่างมาก เขาเคยกล่าวไว้ว่า "หนังสือคือเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา มันช่วยฆ่าเวลาได้"
ทุกการค้นพบต้องมีผู้เสียสละ...
“หรือบางที การค้นพบสิ่งใหม่ต้องมีผู้เสียสละ” หากใครจำกันได้ ในปี 1957 โซเวียตเคยส่งสุนัขชื่อว่า ‘ไลก้า’ ขึ้นยานอวกาศ ‘สปุตนิก 2’ ออกสู่ชั้นบรรยากาศอันเวิ้งว้าง เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดได้ในอวกาศหรือไม่ นั่นก็นับว่าโหดร้ายแล้ว แต่วิถีของอามึนเซินก็โหดร้ายไม่แพ้กัน
เขาใช้สุนัขหลายสิบตัวเพื่อใช้บรรทุกสัมภาระของสมาชิกบนเรือ ในเส้นทางการเดินทางถึงที่ราบสูงขั้วโลก มีบันทึกระบุไว้ว่า อามึนเซินพาสุนัขไปเขาทั้งหมด 52 ตัว มี 24 ตัวที่ถูกฆ่า และมีเพียง 11 ตัวที่สามารถมีชีวิตรอดกลับมาได้
สุนัขทั้ง 24 ตัวที่ถูกฆ่า ฆ่าทำไม?
นอกเหนือจากเป็นภาชนะในการบรรทุกสัมภาระแล้ว ยังกลายเป็นอาหารอันโอชะของคณะเดินทางของอามึนเซินด้วย มีบันทึกที่ระบุว่า สมาชิกในทีมของอามึนเซินน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลายกิโลเพราะบริโภคเนื้อสุนัข
รู้หรือไม่? เสื้อผ้าที่อามึนเซินสวมใส่เป็นเสื้อผ้าสไตล์เดียวกับที่ชาวเอสกิโมสวมใส่ ทำจากขนสัตว์ มีความหนา และให้ความอบอุ่น ปกป้องจากภัยหนาวได้ในระดับหนึ่ง
เบื่อขึ้นเรือ หันขึ้นเครื่องบิน
หลังจากที่ทั้งโลกได้รู้ถึงวีรกรรมสุดระบือนามของอามึนเซินแล้ว อามึนเซินก็ไม่ได้หยุดหย่อนความพยายามในการสำรวจขั้วโลกใต้ แต่ครานี้ไม่ได้เดินทางทางบนน้ำ แต่เป็น “การเดินทางบนฟ้า”
ในปี 1925 อามึนเซิน ขึ้นบินด้วยเครื่องบินเป็นระยะทางราว 150 ไมล์ข้าม “ขั้วโลกเหนือ” อีกครั้งที่อามึนเซินชื่อว่าเป็น ‘คนแรก’ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีนักสำรวจชาวอเมริกันนามว่า ริชาร์ด อี. เบิร์ด ก็พยายามขับเครื่องบินข้ามขั้วโลกเหนือเช่นกัน
ทว่า ภายหลังมีการนำบันทึกของริชาร์ดออกมาเปิดเผย พบว่า เครื่องบินของเขาเกิดน้ำมันรั่ว ทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามขั้วโลกเหนือได้ ฉะนั้น อามึนเซินจึงกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่บินข้ามขั้วโลกเหนือไปโดยปริยาย
เรื่องราวของ “รูอาล อามึนเซิน” สามารถบอกและสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ความพยายามไม่หยุดหย่อน ความสงสัยใครรู่ของมนุษย์ สามารถนำพาชายคนหนึ่งให้ยกก้นจากเก้าอี้นุ่ม แล้วไปบังคับเรือเดินหน้ามุ่งสู่ขั้วโลกใต้ได้
อามึนเซินเปรียบได้กับตัวแทนมนุษย์คนแรกที่เปิดกล่องแพนดอร่า ที่ “ขั้วโลกใต้” ในสภาพที่ยังเป็นช่องฟรีซของโลกใบนี้อยู่ หันกลับมามองปัจจุบัน ตั้งแต่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ กาลที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เฟื่องฟู “ช่องฟรีซโลก” ก็ค่อย ๆ ละลายลง อันเนื่องมาจากผลพวงโลกร้อน น้ำทะลเดือด และน้ำทะเลสูงขึ้น
บางทีฟังก์ชั่นของธรรมชาติอาจสรุปได้ง่าย ๆ ว่า
“มนุษย์ค้นพบ มนุษย์ทำลาย มนุษย์รับผลนั้น...”
ที่มา: History
เนื้อหาที่น่าสนใจ