ร.ต.ต.วิชัย หรือ ดาบวิชัย ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการปลูกต้นไม้ กระจายอยู่ตาม 10 ตำบล ทั่ว อ.ปรางค์กู่ จากกล้าไม้ กลายเป็นต้นไม้เขียวใหญ่กว่า 2 ล้านต้น เราได้เรียนรู้อะไรจากชีวิต และสิ่งที่เขาทำ?
“ผมว่าโลกของวัตถุเป็นสิ่งสมมติทั้งนั้นแหละครับ ความสุขที่แท้จริงคืออยู่กับธรรมชาติ รู้จักเคารพธรรมชาติ ต้นไม้นี่ผมจะต้องปลูก ปลูกไปเรื่อย ๆ ปลูกจนกว่าจะตาย” ดาบวิชัย
ก่อนอื่นขอเกริ่นคำถามเล็ก ๆ ไว้ตรงนี้ก่อน คุณคิดว่าการปลูกต้นไม้สักต้นมันยากไหม?
แล้วถ้าปลูกต้นไม้ 10 ต้นล่ะ?
แล้วถ้าปลูกต้นไม้ 10,000 ต้นล่ะ?
แล้วถ้าปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้นล่ะ พอจะเป็นไปได้ไหม?
ในปี 2531 มีตำรวจนายหนึ่ง เมื่อเลิกงานตำรวจแล้ว ทุกเย็นเขาจะขับรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจไปพร้อมกับเมล็ดพันธุ์ของพืช ปุ๋ย และจอบเสียมห้อยไว้ท้ายเบาะ มุ่งหน้าไปปลูกต้นไม้ ที่บริเวณ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
ชีวิตวนลูปอยู่แบบนั้นเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2531 จากเมล็ดพันธุ์ ก็กลายเป็นต้นกล้า จากต้นกล้าก็กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน ที่อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนต้นไม้เพิ่มขึ้นจากปี 2531 มากกว่า 2 ล้านต้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือสิ่งธรรมดาที่ “ดาบวิชัย” ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี
ทว่านาฬิกาไม่เคยหยุดเดิน อายุของเราก็ไหลไปข้างหน้าเรื่อย ๆ เมื่อไม่นานมานี้ เฟสบุ๊ก “ดาบวิชัย คนบ้าปลูก” ได้ออกมาแจ้งข่าวให้ทุกคนได้ทราบกันถ้วนทั่วว่า ดาบวิชัย ได้จากไปอย่างสงบในวัย 77 ปี ผู้คนต่างหลั่งไหลกันเข้าไปแสดงความอาลัยต่อ “คนบ้าปลูกต้นไม้” ท่านนี้
พระไพศาล วิสาโล ประธานกรรมการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ (มตธ.) ได้กล่าวรำลึกถึง ดาววิชัยไว้ว่า “หวังว่าท่านจากไปอย่างสงบ และไปสู่สุขคติ สวรรค์ชั้นฟ้าที่ท่านสถิตเชื่อว่าจะมีต้นไม้อุดมร่มรื่น”
Spring News ถือโอกาสพาผู้อ่านทุกท่านร่วมสำรวจเมล็ดพันธุ์ที่ “ดาบวิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้” ท่านนี้ ได้หว่านเอาไว้ จนเกิดเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่ผู้คนและโลกใบนี้ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง
เมล็ดพันธุ์ที่ 1: วัยเยาว์
จุดเริ่มต้นของดาบวิชัย ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2489 ที่ จ.ศรีสะเกษ ดาบวิชัยเป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนทั้งหมด 6 คน ฐานะทางบ้านเรียกได้ว่า ยากจน บิดามารดาต้องประกอบอาชีพชาวนาเพื่อประทังชีวิต ทว่าไม่พอยาไส้ เม็ดเงินจากการเป็นชาวนาในยุคสมัยนั้นไม่พอเลี้ยงปากท้องของ 8 ชีวิต
เมื่อโตเป็นหนุ่มขึ้นมา ดาบวิชัยจึงต้องไปทำงานรับจ้างอาทิ กรรมกร ทำอยู่อย่างนั้น เพื่อพอจะเก็บเงินไปศึกษาต่อได้ ดาบวิชัย ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย
ชีวิตของดาบวิชัยก็เวียนอยู่กับ การเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย จนสามารถสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจได้ที่ จ.นครราชสีมา จากนั้นในปี 2513 ดาบวิชัย ได้ย้ายมาประจำการอยู่ที่สถานีตำรวจ อ.ปรางค์กู่ จ. ศรีสะเกษ หลังจากนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “คนบ้าปลูกต้นไม้”
เมล็ดพันธุ์ที่ 2: เริ่มต้นการปลูกต้นไม้
โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทองในปี 2531 คือจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของดาบวิชัยในการปลูกพรรณไม้เขียวขจี หากใครอาศัยอยู่บริเวณ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ อาจจะเคยพบเคยเห็นชายคนหนึ่ง ที่มือมักถือจอบเสียม หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน หันซ้ายหันขวา อยู่แถว ๆ ถนนสายหลักที่จะมุ่งตรงเข้าสู่ตัวอำเภอ นี่คือภาพจำของ “ดาบวิชัย” ที่คนในพื้นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี
มีเรื่องเล่าว่าหลังจากเลิกงานตำรวจแล้ว ดาบวิชัย ก็จะแบกถุงใส่เมล็ดพืชนานาชนิดอาทิ เมล็ดตาล ขี้เหล็ก สะเดา คูณ ปุ๋ย พร้อมกับจอบเสียมอีกจำนวนหนึ่งเอาไว้ท้ายรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจ
ดาบวิชัยเล่าถึงแผนการปลูกต้นไม้ไว้ว่า เขาคิดถึงประโยชน์ที่คนรากหญ้าจะได้รับเป็นอันดับแรก หากเขาลงมือปลูกต้นไม้ พื้นที่ อ.ปรางค์กู่ในยุค พ.ศ. 2531 ยังไม่มีความเจริญคืบคลานเข้ามาเท่าไร ดาบวิชัยจึงเลือกปลูกต้นไม้ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นบ้านเรือนได้อาทิ ต้นยางนา
จากนั้นก็ลามไปต้นตาล ต้นโคน และก็มีต้นไม้อื่น ๆ เพิ่มเติมตามกันออกมา ตามเห็นสมควร แม้ในช่วงแรก ดาบวิชัยจะเป็นคนเดียวที่ปลูกต้นไม้ แต่ดาบวิชัยก็เรียนว่า นายอำเภอของ อ.ปรางค์กู่ ณ ขณะนั้น ให้การสนับสนุนดาบวิชัยเป็นอย่างดี ในการเดินหน้าปลูกต้นไม้อย่างมีแบบแผน
ฉะนั้น มิใช่ว่าดาบวิชัยก้มหน้ากมต้า ปลูกต้นไม้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ศึกษาผลกระทบหน้าหลัง ทว่ามีการวางระเบียบแบบแผน คิดถึงประโยชน์ในระยะยาวของประชาชน หมู่บ้าน และสิ่งแวดล้อม
“เราจะเริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกก็คือวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2531”
เมล็ดพันธุ์ที่ 3: เวลาไม่สูญเปล่า
เคยมีคำกล่าวจากหนูน้อยคนหนึ่ง ที่ใช้นามปากกาว่า “สายลม” เมื่อปี 2564 มีข้อความที่สวยงาม ที่พอจะอธิบายความต่อเนื่องในการปลูกต้นไม้ของดาบวิชัยได้เป็นอย่างดีคือ
“ดอกไม้ไม่บอกว่าจะบานตอนไหน เราต้องรอ” สายลม, 2564
จากเมล็ดพันธุ์ที่ดาบวิชัยขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจไปหว่านเมล็ดทั่วอาณาบริเวณ ณ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ จากนั้นต้นกล้า ผ่านเวลามา 30 กว่าปี ก็เติบโตงอกงาม เขียวขจี สวยงามระรานตาอยู่สองข้างถนน
นอกเหนือจากความงามภายนอกแล้ว ดาบวิชัยได้เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้ง ให้ระบบนิเวศบริเวณดังกล่าวให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มีสัตว์นานาชนิด ได้มาอาศัยอยู่ พืชเล็กพืชน้อยเติบโตใกล้เคียงกับต้นไม้ใหญ่
จากพื้นที่แห้งแล้งใน อ.ปรางค์กู่ ผ่านมา 30 ปี สองข้างถนนก็เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ผลิใบเขียวขจี ตลอดรายทางกินพื้นที่กว่า 10 ตำบล ต้นตาลที่ดาบเอาวิชัยปลูกเอาไว้ ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ด้วยการเก็บลูกตาลนำไปทำขนมขาย หรือ กาบตาล ที่ชาวบ้านเก็บนำไปทำเป็นไม้กวาดได้
หนึ่งสิ่งที่เราพอจะเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ก็คือ เราให้คุณค่ากับสิ่งที่ทำแค่ไหน ดาบวิชัยเฝ้ารอเวลากว่า 30 ปี ในการเฝ้าดูเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เติบโต และคอยเพิ่มพูนต้นไม้ใบเขียวอยู่เรื่อย ๆ ในระหว่างนั้น แถมใครจะคิดว่า เมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ น้อย ๆ จะสามารถเป็นแหล่งสายรายได้ให้กับชาวบ้านได้ในอนาคต
เมล็ดพันธุ์ที่ 4: คนบ้าปลูกต้นไม้ รุ่นถัดไป
โลกนี้ไม่ต้องการดาบวิชัยแค่คนเดียว ดาบวิชัยก็ไม่อยากให้มีแค่เขาคนเดียวที่ทำ ช่วงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดาบวิชัยและครอบครัว พร้อมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุน ในการปลูกต้นไม้ สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่แห้งแล้ง
นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ช่วยกันรักษ์สิ่งแวดล้อมในระแวกนั้นการมากขึ้น ช่วยดูแลถอนหญ้ารก ดูแลความสะอาด จัดการต้นไม้วัชพืช เรื่อยไปจนถึงการสานต่อสิ่งที่ดาบวิชัยทำมาอาทิ การจัดงานสัมมนาให้ความรู้ เปิดพื้นที่ให้คนภายนอกได้เข้ามาร่วมสำรวจแผนและวิธีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่แห้งแล้ง
จึงเป็นเหตุผลว่า ในปัจจุบันนี้มีคนบ้าปลูกต้นไม้อีกหลายชีวิตเกินนิ้วมือจะนับไหว เพื่อร่วมสานต่อเจนตนารมย์ ที่ดาบวิชัยได้ส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง ๆ ให้หันมาสนใจธรรมชาติ ต้นไม้ใบเขียว ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเองกันมากขึ้น
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ต้นไม้ก็ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นของเราทุกคน และผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า ดาบวิชัยก็ไม่คิดว่าต้นไม้เป็นของเขา
แม้เรื่องราวของดาบวิชัยในสายตาของผู้อ่านบางท่านอาจเป็นเรื่องยากเกินไป แต่เราขอยืนยันว่า นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด ขอแค่มีเมล็ดพันธุ์ น้ำ จอบ เสียม และแรงกายอีกเล็กน้อย โลกก็จะมีต้นไม้ใบเขียวงอกเงยขึ้นแล้ว หรือวิธีอื่น ๆ ที่เราพอจะช่วยโลกใบนี้ให้มีสุขภาพที่ดีต่อไปได้ วิธีใดก็ได้ทั้งนั้น
แต่หนึ่งบทเรียนที่เราพอจะจับได้จากดาบวิชัยคือ ก่อนจะทำการใด ๆ ควรวางแผนให้รอบครอบ คิดถึงผลกระทบ และความเป็นไปได้ให้ละเอียดและถี่ถ้วน เพราะจะไม่มีประโยชน์เลย หากต้นไม้ที่คุณปลูก จะเติบโตไปทำลายถนนรอบบ้าน หรือสร้างปัญหาเพิ่มเติมแก่สังคม
ไม่แน่ใจเช่นกันว่าเรื่องราวของดาบวิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้ จะสามารถให้แรงบันดาลใจกับผู้อ่านได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากผู้อ่านรู้สึกว่า สนใจในต้นไม้ใบเขียวมากขึ้น เรียนรู้ที่จะอนุรักษ์โลกใบนี้เอาไว้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตามวิถีทางที่ทุกคนสะดวก และพอจะทำได้ เท่านี้บทความชิ้นนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ที่มา: ดาบวิชัย คนบ้าปลูก
เนื้อหาที่น่าสนใจ