svasdssvasds

EU ลงมติ เตรียมหยุดส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศ นอก OECD ทั่วโลก

EU ลงมติ เตรียมหยุดส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศ นอก OECD ทั่วโลก

สหภาพยุโรปลงมติแล้วว่า เตรียมแบนการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา หรือ OECD ตุรกีรั้งอันดับ 1 ประเทศปลายทางของขยะจาก EU ลั่น ผิดหวัง! อยากให้แบนขยะทุกประเภท

EU เตรียมหยุดส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศ non-OECD หลังบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว ภายใต้ ข้อตกลงดังกล่าว ประเทศในสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศจะไม่สามารถส่งออกขยะพลาสติก ไปยังประเทศที่อยู่นอกองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา หรือ the Organization Economic Cooperation and Development (OECD) ได้อีกต่อไป

เราเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า non-OECD เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาอาทิ

  • สหรัฐ
  • แคนาดา
  • ญี่ปุ่น
  • เกาหลีใต้
  • รัสเซีย
  • จีน
  • อินเดีย

สามารถดูรายชื่อประเทศที่เป็น non-OECD ได้ที่นี่

ทว่ากฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะมนตรีของสหภาพยุโรปเสียก่อน

ย้อนกลับไปในวันที่ 13 – 19 พฤศจิกายน 2566 ทางสหประชาชาติ (UN) ได้จัดการประชุมขึ้นท ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อหารือเรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศในวาระการแก้ไขปัญหาพลาสติก

ผลสรุปจากกระประชุมดังกล่าวสามารถขมวดได้ว่า มิให้ประเทศในสหภาพยุโรป ส่งออกขยะพลาสติก (Plastic Waste) ไปยังประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม OECD อีก เพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ จนก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า เมื่อผ่านไป 5 ปี ประเทศ non-OECD ที่ต้องการนำเข้าขยะพลาสติกจากสหภาพยุโรป สามารถส่งคำร้องมาที่กรรมมาธิการ เพื่อให้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวได้ หากสามารถชี้แจงแนวทางได้ว่าจะจัดการขยะพลาสติกให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร

EU ส่งขยะพลาสติกไปยังประเทศนอก OECD Cr. Flickr

แล้วขยะจาก EU จะไปอยู่ที่ไหน?

คำถามที่ตามมาพร้อมกันย่อมเป็นคำถามนี้เป็นแน่ แม้ประเทศ non-OECD จะปลอดภัยจากขยะพลาสติกที่นำเข้าจากสหภาพยุโรปแล้ว หลายคนเกิดความสงสัยว่า แบบประเทศในสหภาพยุโรป จะส่งขยะไปยังประเทศที่อยู่ใน OECD แทนหรือเปล่า

การกระทำเช่นนี้อาจไม่ง่ายเหมือนเคยแล้ว เพราะหลังจากนี้ ขยะที่จะถูกส่งไปยัง38 ประเทศสมาชิก OECD ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ในแต่ละขั้นตอนต้องได้รับการชี้แจงโดยละเอียด ว่าสายพานของขยะนี้ตั้งแต่ประเทศต้นทางไปยังประเทศเป้าหมาย (Destination) ความเป็นไปของขยะพลาสติกจะเป็นไปอย่างไร

คณะกรรมาธิการยุโรปเน้นย้ำในเรื่องนี้ว่า ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวในกรุง ไนโรบี เห็นพ้องต้องกันว่า จะจัดตั้งกลุ่มหรือคณะประสานงานการดำเนินการของประเทศในสมาชิก เพื่อให้แน่ใจว่า จะมีการถ่วงดุล และตรวจสอบการขนส่งขยะอย่างผิดกฎหมาย

เราพูดถึงกันเรื่องขยะพลาสติกเรื่องเดียวเท่านั้น กล่าวคือ ขยะประเภทอื่น ๆ ยังสามารถส่งไปยังประเทศ non-OECD ได้เหมือนเดิม แต่ยังต้องปฏิบัติตามหลักของกฎเกณฑ์และกฎหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศปลายทาง

ขยะพลาสติกในตุรกี Cr. Flickr

ประเทศใดนำเข้าขยะพลาสติกจากสหภาพยุโรปมากที่สุด?

ข้อมูลในปี 2021 จาก European Commission สรุป 10 ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของขยะพลาสติกจากประเทศในสหภาพยุโรป ตุรกีรั้งอันดับ 1 ด้วยจำนวนนำเข้าขยะพลาสติก 14.7 ล้านตัน

  • ตุรกี นำเข้าขยะพลาสติก 14.7 ล้านตัน
  • อินเดีย นำเข้าขยะพลาสติก 2.4 ล้านตัน
  • อียิปต์ นำเข้าขยะพลาสติก 1.9 ล้านตัน
  • สวิตเซอร์แลนด์ นำเข้าขยะพลาสติก 1.7 ล้านตัน
  • สหราชอาณาจักร นำเข้าขยะพลาสติก 1.5 ล้านตัน
  • นอร์เวย์ นำเข้าขยะพลาสติก 1.4 ล้านตัน
  • ปากีสถาน นำเข้าขยะพลาสติก 1.3 ล้านตัน
  • อินโดนีเซีย นำเข้าขยะพลาสติก 1.1 ล้านตัน
  • สหรัฐ นำเข้าขยะพลาสติก 0.9 ล้านตัน
  • โมร็อกโก นำเข้าขยะพลาสติก 0.6 ล้านตัน

จากข้อมูลข้างต้น หากจะเรียกว่าตุรกีเป็นถังขยะให้ชาวสหภาพยุโรปคงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด ด้วยสัดส่วนที่ทิ้งห่างจากอันดับ 2 อย่างอินเดียถึง 7 เท่า

นักวิจัยไมโครพลาสติก จากมหาวิทยาลัยชูกูโรวา (Çukurova) ประเทศตุรกี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ EU เป็นเรื่องที่ดีก็จริง แต่น่าผิดหวังที่ยังไม่ออกกฎห้ามส่งออกขยะทุกประเภทมายังตุรกี ผู้เป็นถังขยะรายใหญ่ของโลก

ตุรกีรั้งอันดับ 1 นำเข้าขยะพลาสติกจาก EU Cr. Wikipedia

กระทบไทยไหม?

อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า ประเทศไทยเป็น non-OECD และประเทศไทยต้องกุมขมับกับปัญหาเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติกมาเป็นระยะเวลายาวนาน

เนื่องจากไม่มีระบบการคัดแยกขยะที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ขยะที่ถูกนำเข้ามาก็ไปกองรวมกันเป็นกองภูเขาขยะไซส์ยักษ์แบบที่เราเห็นกัน

กองขยะบนเกาะเต่า Cr. Wikipedia

กองขยะพลาสติกในไทย Cr. Flickr

ย้อนกลับไปในวันที่ 21 ก.พ. 66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบนโยบายการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ และลดราคาค่างวดของเศษพลาสติกในประเทศ

โดยรายละเอียดทิศทางการนำเข้าขยะพลาสติกของประเทศไทยมีดังนี้

  • ปี 2566: เขตปลอดอากร สามารถนำเข้าในปริมาณ 100% ของความสามารถในการผลิตจริง รวมไม่เกิน 372,000 ตันต่อปี พื้นที่ทั่วไป ห้ามนำเข้า แต่มีข้อยกเว้น
  • ปี 2567:  เขตปลอดอากร สามารถนำเข้าในปริมาณ 50% ของความสามารถในการผลิตจริง รวมไม่เกิน 186,497 ตันต่อปี พื้นที่ทั่วไป ห้ามนำเข้า แต่มีข้อยกเว้น
  • ปี 2568: เขตปลอดอากร ห้ามนำเข้า พื้นที่ทั่วไป ห้ามนำเข้า

ฉะนั้น ความเคลื่อนไหวนี้ของ EU ผนวกกับมติครม.ที่ออกเมื่อช่วงต้นปี อาจอาจช่วยเราจัดการกับขยะได้เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น

ที่มา: The Guardian

        Reuters

        Greennews

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related