สถานการณ์ของอินเดียยังน่าเป็นห่วงสำหรับปัญหามลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ทางเมืองนิวเดลีได้ประกาศมาตรการออกมามากมายหลากหลายข้อ จนล่าสุด นักวิจัยพบว่า Smog Tower ฟอกอากาศได้แค่ 10% เมื่ออยู่ห่างออกไป 500 เมตร แถมมีราคาที่สูงเกินไป
ในทุก ๆ ฤดูหนาว เมืองนิวเดลีต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่รุนแรง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ป่วยเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ
เหตุเพราะอุณหภูมิลดต่ำลง ความเร็วลมลดลง ฝุ่นและควันพิษจากท่อไอเสียของรถที่วิ่งอยู่ในเมืองนิวเดลี ปล่องปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม การก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง
รวมทั้งการเผาในอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นปัญหาคาราคาซังที่แก้ไม่ได้อย่างจริงจัง จนทำให้ทั้งเมืองตกอยู่ในหมอกสีขาวหนาทึบอยู่หลายวัน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เมืองนิวเดลีได้ออกมา take action กับปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการออกมาตการฉุกเฉินออกมาเช่น ลดการจราจรบนถนน ประกาศมาตรการวันคู่-คี่ ห้ามเผาในฟาร์ม และล่าสุดได้ติดตั้งเครื่อง Smog Tower ทั่วทั้งเมือง เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศให้สะอาดยิ่งขึ้น
Smog Tower คืออะไร?
โดยปกติแล้วชาวเมืองเดลีมักเก็บเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งเป็นพัดลมไซส์เล็กที่เชื่อมต่อกับตัวกรองอากาศประสิทธิภาพสูงไว้เฉพาะที่บ้านเท่านั้น
พัดลมชนิดนี้สามารถช่วยดันอากาศผ่านแผ่นกรองที่ดักจับฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือมลพิษในอากาศชนิดอื่น ๆ Smog Tower ก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ที่พิเศษกว่าคือ เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเอาไว้ในที่โล่งกระจายอยู่ทั่วเมืองนับพันตัว
เครื่องฟอกอากาศยักษ์ Smog Tower มีความสูงประมาณ 20 เมตร ถูกออกแบบมาสำหรับดักจับอนุภาคมลพิษและช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในพื้นที่ของเมืองที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
แต่การติดตั้ง Smog Tower ยังมีความท้าทายอยู่หลาย ๆ เรื่องเช่นต้นทุนที่สูงถึง 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แถมต้องเสียเงินค่าบำรุงรักษาอยู่บ่อย ๆ
Smog Tower ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Smog Tower ของจีนที่ติดตั้งอยู่ในเมือง Xi An รัฐบาลนิวเดลีจึงเล็งเห็นว่า ควรติดตั้งอุปกรณ์ที่คล้ายกันเพื่อเข้ามาช่วยควบคุมพัฒนาคุณภาพอากาศของชาวเมืองให้สะอาดยิ่งขึ้น
เมื่อปี 2020 เมืองนิวเดลีได้มีการทดสอบ Smog Tower ครั้งแรก พบว่าสามารถช่วยกรองอากาศได้ถึง 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผลลัพธ์นี้ ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และน้ำของเมืองนิวเดลีออกมาตบเท้าพร้อมเพรียงกันสนับสนุนให้มีการติดตั้งเครื่อง Smog Tower จำนวน 2.5 ล้านตัวทั่วทั้งเมือง ซึ่งโปรเจกต์นี้ตีเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
Smog Tower ทำให้อากาศสะอาดขึ้นจริงไหม?
อย่างที่กล่าวไปว่า เครื่องฟอกอากาศนี้ถูกติดตั้งในพื้นที่เปิดของเมือง ทำให้ Smog Tower ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่สามารถฟอกอากาศได้เพียงพอ หรือสามารถฟอกอากาศได้เร็วพอที่จะสร้างความแตกต่างได้
ทันทีที่อากาศที่ผ่านการฟอกแล้ว ถูกปล่อยออกไปจากเครื่อง Smog Tower อากาศสะอาดที่ได้ก็จะไปผสมกับอากาศที่เจือปนมลพิษทันที ด้วยเหตุผลหลัก ๆ เลยคือ เพราะนี่คือพื้นที่โล่งซึ่งเกิดการไหลเวียนของอากาศสูง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิจัยจาก Indian Institute of Technology Bombay ได้เข้าตรวจสอบ Smog Tower พบว่าประสิทธิภาพการทำงานในการฟอกอากาศให้สะอาดอยู่ที่ 50% เท่านั้น จากนั้นจะลดเหลือ 30% ที่ระยะห่างออกไป 50 เมตรจาก Smog Tower และจะลดเหลือแค่ 10% เมื่อเดินห่างออกไป 500 เมตร
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังตรวจพบอีกว่า ผ่านกรองของเสียด้านในไม่ได้ถูกปิดอย่างหนาแน่นมากพอที่จะคัดกรองอนุภาคของเสียได้ ทำให้ยังมีของเสียบางส่วนที่หลุดรอดเข้าไปได้
แม้ว่าแนวโน้มของ Smog Tower จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นของเมืองเป็นอย่างดี แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ และผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ก็เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า Smog Tower “ราคาแพงเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพ”
ที่มา: The Economic Times
เนื้อหาที่น่าสนใจ