ชาวบ้านลพบุรีโอด กองทัพอีกัวน่าเขียวแพร่พันธุ์รวดเร็วเกินไป และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตอนนี้วิถีชีวิตของชาวบ้าน จ.ลพบุรีถูกรบกวนหนัก พืชผักที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย
จากกรณีที่กองทัพ ‘อีกัวนาเขียว’ บุกพื้นที่บ้านห้วยบุ้ง ต.พัฒนา จ.ลพบุรี ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบหนัก พืชผักที่ปลูกเอาไว้รับประทานเองหรือเตรียมไปขายล้วนถูก อีกัวนาเขียว กัดกินจนหมดสิ้น
ชาวบ้านในพื้นที่ยังเผยอีกว่า ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าก็เข้ามาจับออกให้ แต่เนื่องจากมีจำนวนมาก และอีกัวนาเขียวสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว แถมไม่ยอมถูกจับง่าย ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่กำลังเข้าไปจับ สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ก็หนีลงน้ำเสียก่อน
จุดเริ่มต้นของอีกัวนาเขียวของพื้นที่แห่งนี้เริ่มมาจากมีเศรษฐีจากกรุงเทพฯ นำมาเลี้ยง คาดว่าเป็นตัวผู้และตัวเมีย จากนั้นเศรษฐีก็ได้ย้ายออกไปและไม่ได้นำอีกัวนาเขียวไปด้วย แต่ปล่อยสู่ป่าในบริเวณนั้นแทน ทำให้เกิดการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
อีกัวนาเขียวสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 20-40 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ในแต่ละครั้งนาน 10-15 สัปดาห์ ชาวบ้านเผยอีกว่า ระหว่างที่เดินอยู่ในไร่ของตัวเอง พบโพรงของอีกัวนาเขียวจำนวน 5 โพรง แต่ละโพรงมีไข่มากถึง 100 ฟอง พร้อมตั้งคำถามใหญ่ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร?
ในพื้นที่ดังกล่าวของจังหวัดลพบุรี ชาวบ้านแจ้งว่าพบเห็นอีกัวนาเขียวมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ระยะหลัง เริ่มได้รับผลกระทบหนัก และรบกวนการใช้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ วันนี้คอลัมน์ Keep The Worldจึงชวนรู้จัก ‘อีกัวนาเขียว’ เริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ รวมทั้งสำรวจผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของมนุษย์
อีกัวนาเขียว เอเลี่ยนสปีชีส์
อีกัวนาเขียว หรือในชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Iguana iguana คือสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า พบมากในแถบเม็กซิโก อเมริกากลาง รวมทั้งบริเวณเกาะต่าง ๆ ของทะเลแคริบเบียน
อีกัวนาเขียว ไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นของประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในหมวดเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ลักษณะภายนอกปกคลุมไปด้วยเกล็ด มีหนามอยู่บริเวณแผงหลังของลำตัว สำหรับอีกัวนาเขียวไซส์ใหญ่ หนามอาจยาวได้ถึง 4 นิ้ว ที่บริเวณใต้ลำคอมีเหนียง และมีเกล็ดแผ่นใหญ่เป็นรูปวงกลมที่เรียกว่า Subtympanic Shield ในตัวผู้วงกลมดังกล่าวจะมีลักษณะนูนออกมาเล็กน้อย
ลักษณะเด่นของอีกัวนาเขียวคือ มีหางที่ยาวไว้สำหรับป้องกันตัวเองจากสัตว์ผู้ล่า เมื่อรับรู้ถึงภัยที่ใกล้เข้ามา อีกัวนาเขียวจะฟาดหางใส่ศัตรูเพื่อสร้างความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังสามารถสละหางบางส่วนทิ้งได้ เพื่อช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นเมื่อต้องการหนีออกจากสถานการณ์ที่อันตราย
แม้ชื่อจะเป็น ‘อีกัวนาเขียว’ แต่เกร็ดตามลำตัวสามารถเป็นไปได้หลายสีเช่น เขียว เหลือง น้ำตาล ซึ่งสัตว์จำพวกกิ้งก่าเช่นนี้ ก็จะปรับสีของเกล็ดบนตัวไปตามอุณหภูมิของโลก วันใดที่มีอากาศเย็น เกล็ดบริเวณลำตัวจะมีสีออกคล้ำ และเมื่ออากาศร้อนขึ้นสีของเกร็ดก็จะสดขึ้น
กินอะไรเป็นอาหาร?
อีกัวนาเขียวเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ ในช่วงแรกจะกินแมลง หอยหรือสัตว์เล็ก แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ก็จะเริ่มเปลี่ยนมากินพืช ดอกไม้หรือใบไม้แทน ดังเช่นที่ชาวบ้านลพบุรีแจ้งว่า อีกัวนาเขียวได้เข้ามากินถั่วฝักยาวและมันสำปะหรังจนเกลี้ยงไร่
ขนาดและน้ำหนัก
เมื่อโผล่หน้าออกจากไข่ อีกัวนาเขียวจะมีน้ำหนักที่ 12 กรัม จากนั้นน้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นไปที่ 1 กิโลกรัม เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ความยาวตั้งแต่หัวจนถึงโคนหางจะอยู่ที่ 1.2-1.7 เมตร เฉพาะหางอย่างเดียวอาจมีความยาวได้ถึง 30-42เซนติเมตร สำหรับอีกัวขาเขียวที่โตเต็มวัยสามารถมีน้ำหนักมากถึง 7.5 กิโลกรัม
อายุเฉลี่ย
อายุเฉลี่ยที่มากที่สุดของ ‘อีกัวนาเขียว’ คือ 20 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นอีกัวนาเขียวที่อาศัยอยู่ในป่า ส่วนอีกัวนาเลี้ยงจะมีอายุขัยน้อยลงไปตามลำดับ (10-20 ปี) เพราะได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม
ความนิยมของอีกัวนาเขียวในไทย
อย่างที่กล่าวไปว่าอีกัวนาเขียวไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ดังนั้นอีกัวนาเขียวจึงถูกนำเข้ามาจากประเทศแถบอเมริกากลาง หรือบริเวณหมู่เกาะแคริบเบียน พบว่าเริ่มมีการนำเข้ามาอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2531 ถึงปี 2561 ตัวเลขการนำเข้าอีกัวนาเขียวอยู่ราว 1 หมื่นตัว และตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ราว 3 หมื่นตัว
เหตุที่มีการส่งออกอีกัวนาเขียวเพราะว่า ในช่วงหลัง ๆ คนเริ่มนิยมเลี้ยงอีกัวนาในระบบปิดกันมากยิ่งขึ้น ในประเทศไทยมีการซื้อขายอีกัวนาเขียวกันอย่างแพร่หลาย อีกัวนาเขียวไซส์เล็กราคาสนนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป และสำหรับอีกัวนาที่มีสีสันและลวดลายสวยงามราคาสามารถดีดขึ้นไปถึงหลักหมื่น เมื่อมีความต้องการสูงก็ทำให้เกิดการเพาะพันธุ์กันอย่างแพร่หลาย
การเพาะพันธุ์อีกัวนาเขียว
แหล่งเพาะพันธุ์ในบางแห่งของประเทศไทย เพาะพันธุ์อีกัวนาเขียวด้วยการปล่อยให้อยู่รวมกันเป็นฝูง และปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งลักษณะนี้นับว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมเท่าไร
ลองนึกภาพว่าเมื่อถึงช่วงที่อีกัวนาต้องวางไข่ ภายในสภาพแวดล้อมที่มีอีกัวนาเดินพล่านเต็มไปหมด อาจทำให้ไข่ได้รับความเสียหายหรืออาจทำให้ตัวอ่อนของอีกัวนาไม่แข็งแรงได้ ฉะนั้นทางที่ดี แหล่งเพาะพันธุ์ควรมีการจัดการไข่ที่ดีเพื่อไม่ให้ไข่เสียหรือเกิดการติดเชื้อ
ธรรมชาติของอีกัวน่าตัวเมียคือ เมื่อถึงเวลาที่จะวางไข่อีกัวนาตัวเมียจะขุดหลุมไว้สำหรับวางไข่ ดังนั้นหากไม่มีการจัดการเรื่องการผสมพันธุ์ของอีกัวนาเขียวที่เหมาะสม ไข่ที่ออกมาก็จะไม่มีประสิทธิภาพ
อีกัวนาเขียวระบาดที่ จ.ลพบุรีส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร?
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า สัตว์เลื้อยคลานอย่าง ‘อีกัวน่าเขียว’ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและเป็นพาหะของเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า (Salmonella) ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้หากได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าไป
สถานการณ์ตอนนี้ที่จังหวัดลพบุรี ชาวบ้านพบอีกัวนาเขียวหลายร้อยตัวทั่วในบริเวณพื้นที่ ดังนั้นอีกัวนาเขียวหากไปเกลือกกลั้วกับพืชผักผลไม้ของชาวบ้าน หรือไปอุจจาระลงแหล่งน้ำในหมู่บ้าน
เมื่อชาวบ้านนำไปบริโภคต่อโดยไม่ผ่านการทำความสะอาดที่มากเพียงพอ ชาวบ้านอาจได้รับเชื้อดังกล่าว จนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยเช่น อาการท้องร่วง ได้
ผลกระทบอีกเรื่องของอีกัวนาเขียวคือ ในฐานะเอเลียนสปีชีส์ อีกัวนาเขียวยังไปรุกรานสัตว์พื้นถิ่นของอย่างกิ้งก่าด้วย นอกจากแย่งแหล่งอาหารกันแล้ว กิ้งก่าไซส์เล็กบางตัวอาจถูกอีกัวนาเขียวกินเป็นอาหารด้วย กล่าวคือ กิ้งก่าในฐานะที่เป็นสัตว์ผู้มีลำดับห่วงโซ่อาหารต่ำกว่าอีกัวน่าเขียวย่อมเสียเปรียบในหลาย ๆ มิติ
สิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังและตั้งตารอสำหรับเรื่องนี้คือ ต้องการให้มีการเข้ามาจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ถึงแม้จะพบเจออีกัวน่าเขียวมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่มันเพิ่งมาหนักเอาจริง ๆ ช่วง 2-3 ปีนี้ และจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ชาวบ้านลำบากในการใช้ชีวิต เพราะต้องคอยมาระแวดระวังความปลอดภัยตัวเองและครอบครัวจากอีกัวนาสีเขียว
ที่มา: Ryt9
เนื้อหาที่น่าสนใจ