เมื่อปี 2021 หลายประเทศได้ลงนามร่วมกันว่าจะปกป้องผืนป่า และช่วยกันให้การตัดไม้ทำลายป่าลดลงภายในปี 2030 แต่นักวิจัยเผยว่า! การตัดไม้ทำลายป่ายังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างที่ทราบกัน ป่าไม้มิเพียงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์นานาชนิดเท่านั้น แต่ป่าไม้ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนแผงควบคุมสภาพภูมิอากาศของโลก แถมยังเป็นฟองน้ำที่คอยดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เอาไว้ ก่อนที่จะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ฉะนั้น หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกจึงแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการลดการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศเพื่อคงไว้ซึ่งปอดของโลก
เฉกเช่นในปี 2021 ผู้นำกว่า 100 ประเทศ ได้ตบปากให้สัญญาว่าจะเป็นตัวแทนของผืนป่าสีเขียว ในการป้องกันภัยอันตรายที่อาจนำมาสู่ป่า และตั้งเป้าว่าจะร่วมกันฟื้นฟูผืนป่าภายในปี 2030
แต่ดูเหมือนตัวเลขการประเมินการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกจะย้อนแย้งกับเป้าหมายที่หลาย ๆ ประเทศตั้งร่วมกัน ในปีที่แล้ว อัตราการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ป่าราว 6.6 ล้านเฮกตาร์
ตัวเลขที่ออกมานี้ กลุ่มที่ประเมินตัวเลขการตัดไม้ทำลายป่าได้สื่อสารต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า ความเสื่อมโทรมของป่าไม้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน่ากังวล
ความเสื่อมโทรมที่ว่าก็คือ ป่าไม้ยังคงเกิดไฟป่าขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป ซึ่งผลกระทบตรงนี้ทำให้สุขภาพของป่าโดยรวมย่ำแย่ลง
“ข้อมูลปีต่อปี มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล” เอริน แมตสัน ผู้ประเมินในครั้งนี้ กล่าว
“แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ตั้งแต่ปี 2018 – 2020 เรามีแนวโน้มว่ากำลังเดินไปในทางที่ผิด”
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะเตือนว่า เรากำลังเดินไปในทางที่ผิด แต่ก็ใช่ว่าแนวโน้มการตัดไม้ทำลายป่าจะย่ำแย่ไปเสียหมด เพราะมีถึง 50 ประเทศ ที่ถือว่ายังอยู่ในเส้นทางที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย บราซิล และมาเลเซีย 3 ประเทศนี้ สูญเสียพื้นที่ป่าน้อยลง แต่ 3 ประเทศที่ยกมานี้ ก็มีเรื่องที่ต้องกังวล
ประเทศอินโดนีเซีย ที่แนวโน้มการสูญเสียพื้นที่ป่าลดลงเพราะถูกเชื่อมโยงอยู่กับการระงับการตัดไม้ทำลายป่าชั่วคราว ทว่าสิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการสร้างงาน ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมุ่งมั่นที่อินโดนีเซียปูมาได้ดีกับเรื่องการดูแลรักษาป่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่วนประเทศบราซิล ความสนใจส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ป่าแอมะซอนเพราะเป็นระบบนิเวศแห่งใหญ่ของประเทศ คนให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ มีการสร้างความรู้ความเข้าใจ และรณรงค์ไม่ให้ตัดไม้ทำลายป่า แต่ผลกรรมก็ไปตกที่ทุ่งหญ้าเซอราโด้แทน ทุ่งหญ้านี้มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการทำลายป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ต้นไม้คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ก่อนที่จะลอยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก
ดังนั้น การตัดไม้ทำลายป่าจึงเปรียบได้กับการตัดแขนตัดขาตัวช่วยสำคัญของโลก ในการผ่อนมลพิษที่โลกได้รับให้ทุเลาลง
ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาบอกว่า หากโลกของเราเกลี้ยงเตียน ไม่มีพื้นที่สีเขียวอยู่เลย โลกของเราจะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์เต็ม ๆ เพราะไม่มีต้นไม้คอยดูดซับ หรือสะท้อนรังสีความร้อนออกไป
นอกจากนี้ยังมีผลเสียอีกมากมายที่โลกของเราจะได้รับยังมีอีกมากมายเกินนับไหว ถ้าหากเราขาดต้นไม้ไป ถือเป็นโจทย์ให้กับทุกประเทศว่าจะดำเนินมาตราการฟื้นฟูผืนป่าต่อไปอย่างไร
ที่มา: CNA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ป่าแอมะซอนเดินทางถึงจุดเปลี่ยน จากป่าฝนผืนใหญ่สู่ทุ่งสะวันนาแห้งแล้ง
บราซิลสูญเสียพื้นที่ป่าอเมซอนเทียบเท่ารัฐเท็กซัสและนิวเม็กซิโกรวมกัน
ป่าแอมะซอนทุบสถิติ สูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 7 เท่าของแมนฮัตตัน