ก่อนจะไปยลโฉมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์ ที่คาดการณ์ว่าจะโผล่มาให้เราได้เห็นกันในวันนี้ (21 ต.ค.) ช่วงกลางดึก จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 22 ต.ค. ชวนรู้จักปรากฏการณ์ที่เรียกว่า มลภาวะทางแสง เมื่อความสว่างของแสงไฟที่มากเกินไป กลายเป็นอุปสรรคต่อการดูดาว
เป็นที่ทราบกันดีว่า การรับชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จำเป็นต้องรับชมในจุดที่ท้องฟ้ามืดสนิท ถึงจะได้เห็นฝนดาวตกนี้ได้แบบชัด ๆ แต่เพราะบริเวณตัวเมืองที่มีแสงที่มากเกินไป อาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นได้
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเห็นภาพของโลกในยามค่ำคืน ที่ถูกถ่ายไว้ได้โดยดาวเทียมกันผ่านตามาบ้าง ทำให้เรารู้ได้เลยว่า จริง ๆ แล้วโลกของเราไม่เคยหลับใหลตามกาลเวลา
โลกของเราเปล่งประกายไปด้วยแสงไฟจากหลากหลายแห่ง มองเผิน ๆ อาจดูเป็นสิ่งสวยงาม แต่รู้หรือไม่ว่า แสงสว่างพวกนั้นคือสาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า มลภาวะทางแสง (Light Pollution)
แสงสว่างที่สะท้อนขึ้นไปบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งแสงดังกล่าวเกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างอย่างไม่เหมาะสม
ไม่เหมาะสมในเชิงที่ว่า การติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างไม่ได้ถูกคิดในหลาย ๆ แง่มุมว่า ในพื้นที่แห่งนี้ ควรมีทิศทางของแสงประมาณไหน ควรมีปริมาณของแสงเท่าไร ที่ตอบโจทย์เพียงพอแล้วสำหรับการมองเห็นและการใช้ชีวิตของมนุษย์
และเมื่อแสงไม่ได้ถูกจัดอย่างเหมาะสม ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ในยามค่ำคืน จากท้องฟ้าที่เคยมืด และมองเห็นดวงดาว หรือวัตถุบนท้องฟ้ามากมาย ก็อาจจะมองเห็นได้น้อยลง หรือแทบไม่เห็นแล้ว
ยิ่งบริเวณตัวเมืองที่มีการกระจุกตัวกันของอาคารบ้านเรือนหลาย ๆ หลัง ตึกสูง ป้ายโฆษณา ที่ยังเปิดให้แสงสว่างในยามค่ำคืน ผสมรวมกันออกมาแล้ว ก็ทำให้เกิดมลภาวะทางแสงนั่นเอง
คริสโตเฟอร์ ไคบา นักวิจัยมลภาวะทางแสงจากศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์แห่งเยอรมัน เปรียบเทียบให้เห็นว่า
"หากมีเด็กทารกที่เกิดใหม่ในวันนี้ แล้วสามารถมองเห็นดวงดาวได้ 250 ดวง และเมื่อโตขึ้นจนอายุครบ 18 ปี ปริมาณดวงดาวที่พวกเขาสามารถเห็นได้จะเหลืออยู่ราว 100 ดวงเท่านั้น"
ใครได้รับผลกระทบบ้าง?
แสงที่มากเกินไปนั้น มิเพียงกระทบต่อวิสัยทัศน์การดูดาว หรือวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงสรรพสัตว์ และพืชหลายชนิด
ยกตัวอย่างเช่น ไปขัดขวางการอพยพประจำฤดูกาลของฝูงนก การบานของดอกไม้บางชนิด หรือแม้แต่การจีบกันของบรรดาหิ่งห้อย รวมถึงมนุษย์ด้วยเช่น ปริมาณแสงที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศ การที่มีแสงสว่างตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ยังถือเป็นเรื่องอันตรายอยู่ เพราะในแง่หนึ่งการมีไฟสามารถช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์การมองเห็นในยามค่ำคืน อีกทั้งยังสามารถช่วยปกป้องมนุษย์จากภัยอันตรายได้ในระดับหนึ่ง
จึงเป็นความย้อนแย้งตรงนี้ว่า แสงสว่างที่เพิ่มมากขึ้นสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็จริง แต่ความสว่างนี้ก็กระทบความมืด – สว่างบนท้องฟ้า ซึ่งอาจทำให้เราอาจมองไม่เห็นดาว สถานการณ์นี้อาจบอกเราได้ว่า ความเชื่อมโยงของมนุษย์กับธรรมชาติเริ่มขาดหายไปทุกที ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในระดับบุคคล การช่วยลดมลภาวะทางแสงสามารถทำได้ง่าย ๆ เลยคือ ปิดไฟบริเวณรอบบ้าน หรือไฟที่เราคิดว่าไม่ได้ใช้สอยอย่างเต็มที่ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยลดมลภาวะทางแสงได้แล้ว
ถึงตรงนี้ อาจทำให้เราตระหนักได้ว่า การใช้แสงสว่างที่มากจนเกินไปมิเพียงส่งผลกระทบต่อการดูดาวเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในหลาย ๆ แง่มุมในแบบที่เราคาดไม่ถึง
ส่วนฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ที่คาดว่าจะแสดงให้เราได้เห็นกันในช่วงกลางดึกของวันนี้ (21 ต.ค.) จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 22 ต.ค. เราจะสามารถมองเห็นได้แบบชัด ๆ หรือไม่นั้น อย่าลืมว่าต้องอยู่บริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิท จากนั้นก็จ้องขอบฟ้าเอาไว้ให้ดี ๆ เพราะถ้าพลาดครั้งนี้ ก็พบอีกครั้งในปีพ.ศ. 2604 หรืออีก 38 ปีข้างหน้า
ที่มา: SciAm
ข่าวที่เกี่ยวข้อง