svasdssvasds

ไอซ์แลนด์ กลับมาล่าวาฬอีกครั้ง กับ "หลักสูตรชีววิทยาวาฬ" เรียนรู้การทรมาน

ไอซ์แลนด์ กลับมาล่าวาฬอีกครั้ง กับ "หลักสูตรชีววิทยาวาฬ" เรียนรู้การทรมาน

รัฐบาลไอซ์แลนด์ ประกาศกลับมา "ล่าวาฬฟิน" อีกครั้ง หลังหยุดไปนานสองเดือน โดยการล่าครั้งนี้จะเป็นการล่าในแนวทางที่เน้นไปยังการฆ่าวาฬให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้วาฬทรมาน ผ่าน "หลักสูตรชีววิทยาวาฬ"

การล่าวาฬ ที่ยังดำเนินต่อไป

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลไอซ์แลนด์ประกาศว่าจะกลับมาล่าวาฬฟินอีกครั้งหลังหยุดไปนานสองเดือน ซึ่ง "วาฬฟิน" คือ วาฬที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากวาฬสีน้ำเงิน แต่การกลับมาล่าครั้งนี้จะเป็นการล่าในแนวทางที่เน้นไปยังการฆ่าวาฬให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้วาฬทรมาน

คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ดูแลการอนุรักษ์วาฬ ได้สั่งห้ามล่าวาฬชั่วคราวในปี 2529 แต่หลังจากที่หยุดล่าวาฬไปเกือบ 20 ปี ในปี 2549 ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์และญี่ปุ่น ก็กลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้ง ทั้งๆที่บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เพราะอะไรที่ทำให้นโยบายล่าวาฬเปลี่ยนไป??

ไอซ์แลนด์ กลับมาล่าวาฬอีกครั้ง กับ "หลักสูตรชีววิทยาวาฬ" เรียนรู้การทรมาน Photo : Reuters

ย้อนอดีต การล่าวาฬเพื่อการดำรงชีพ

จริงๆแล้วการ “ล่าวาฬ” นั้นมีมานานหลายพันปีแล้ว โดยคาดว่าน่าจะเป็นวิถีการดำรงชีวิตของชาวเอสกิโม บริเวณแอตแลนติกเหนือและแปซิฟิกเหนือ แต่เดิมเป็นการล่าเพื่อหล่อเลี้ยงปากท้องของคนในชุมชน เนื่องจากวาฬเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ทำให้กินกันได้หลายมื้อและหลายคน 

อีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อเปลี่ยนผ่านช่วงวัย โดยใช้การล่าเพื่อส่งเสริมให้คนที่มีกำลังและอายุที่เหมาะสมแล้วหาเลี้ยงชีพต่อไป หรืออาจมีพิธีกรรมบางอย่างเพื่อแสดงอัตลักษณ์ในกลุ่มของตนเอง ซึ่งมีอยู่หลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งวาฬ ทำให้ปัจจุบันยังคงมีการล่าลักษณะนี้หลงเหลืออยู่บ้างในบางสังคม

การล่าวาฬ เพื่อการดำรงชีพ Photo : Reuters เมื่อประชากรของโลกมีมากขึ้น รวมไปถึงการล่าวาฬได้รับความนิยมในหลายประเทศ การล่าวาฬจึงไม่จบแค่การล่าไม่กี่ตัวเพื่อเลี้ยงชุมชน แต่มันกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่วาฬนับพันนับหมื่นตัวต้องสังเวยชีวิตให้แก่มนุษย์ 

ก้าวสู่การ “ล่าวาฬ” เชิงพาณิชย์

การ “ล่าวาฬเชิงพาณิชย์” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นต้องออกล่าวาฬเพื่อเป็นอาหารหลัก ถึงขนาดช่วยดัดแปลงเรือเพื่อให้สามารถไปหาอาหารได้ไกลขึ้นกว่าเดิม วาฬจึงกลายมาเป็นอาหารที่ถูกรับประทานในวงกว้างในสังคมญี่ปุ่นช่วงฟื้นฟูประเทศ จึงทำให้คนญี่ปุ่นผูกพันกับการกินเนื้อวาฬ ทำให้จำนวนของวาฬลดน้อยลงเรื่อย ๆ 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้งองค์กร International Whaling Commission (IWC) ขึ้น เพื่อออกกฎหมายและควบคุมการล่าวาฬ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการล่าวาฬ (International Convention for the Regulation of Whaling) โดยจะจำกัดจำนวนการล่าวาฬ ซึ่งเน้นการล่าเพื่อไว้ใช้ในวิจัยและทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าการบริโภคหรือใช้ในการพาณิชย์ทั่วๆไป

ก้าวสู่การ “ล่าวาฬ” เชิงพาณิชย์  Photo : Reuters

มนุษย์ “ล่าวาฬ” นับล้านตัวทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทางการค้า

สำนักงานบริหารการประมงทางทะเลแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกรายงานประเมินสถานการณ์การล่าวาฬของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 หรือช่วงปี 2443 ถึง 2542 ที่ผ่านมาพบว่า ทั่วโลกสังหารวาฬเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า เช่น น้ำมัน เนื้อ และกระดูก ทั้งสิ้นประมาณ 2.9 ล้านตัว เมื่อแบ่งตามภูมิภาคพบว่า

  • มีวาฬถูกล่าในซีกโลกใต้ประมาณ 2,050,000 ตัว
  • มหาสมุทรแปซิฟิกด้านเหนือมากกว่า 560,000 ตัว  
  • มหาสมุทรแอตแลนติกด้านเหนืออีกมากกว่า 270,000 ตัว

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการล่าวาฬสากลและของสหภาพโซเวียต และไม่รวมการล่าวาฬของชนพื้นเมืองต่างๆ แต่อย่างใด

ช่วงเวลาที่มีการล่าวาฬเชิงการค้ามากที่สุด ได้แก่ ทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 โดยวาฬที่ถูกล่าช่วงปี 2443 ถึง 2505 นั้น มากเท่ากับปริมาณการล่าวาฬในศตวรรษที่ 18 และ 19 รวมกัน และหลังจากนั้นอีกเพียง 10 ปี คือในปี 2505 ถึง 2515 ปริมาณการล่าวาฬก็ทำสถิติเท่ากับการล่าวาฬในศตวรรษที่ 18 และ 19 รวมกันอีกครั้ง

เมื่อการล่าวาฬกำลังจะทำให้สูญพันธุ์?? Photo : Reuters

วาฬกำลังจะสูญพันธุ์??

หลังจากที่มีการห้ามการค้า “ล่าวาฬในเชิงพาณิชย์” ในปี 1986 เนื่องจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรมากเกินไป จำนวนวาฬที่ถูกฆ่าก็ลดลงอย่างมาก

ปัจจุบัน เหลือเพียง 3 ประเทศในโลกที่ล่าวาฬเพื่อการค้า นอร์เวย์ ญี่ปุ่น และไอซ์แลนด์ และหลังจากนั้นทั้งสามประเทศนี้ก็ได้บอกเป็นนัยๆว่าว่าจะยกเลิกการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567

นอกจากนี้ การล่าวาฬยังได้รับอนุญาตด้วยเหตุผลดั้งเดิมในเดนมาร์ก (หมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์) รัสเซีย (ไซบีเรีย) เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (เบเกีย) และสหรัฐอเมริกา (อลาสกา)

หลักสูตรชีววิทยาวาฬ  เรียนรู้ความเจ็บปวด และความเครียด  Photo : Reuters

การล่าวาฬจะกลับมาอีกครั้ง กับ หลักสูตรชีววิทยาวาฬ

แม้ว่าการห้ามทางการค้าจะประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพของประชากรวาฬ แต่ก็ยังคงเป็นวิธีปฏิบัติที่มีการถกเถียงกันอย่างมากเนื่องมาจากวิธีการล่า ซึ่งวาฬบางตัวจะมีชีวิตอยู่ได้หลายนาทีหลังจากถูกฉมวกโจมตี สถิติล่าสุดในปี 2564 พบว่ามีวาฬ 1,284 ตัวถูกฆ่าทั่วโลก โดย 881 ตัวใช้เพื่อการค้า

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรคยาวิกเมืองหลวงของไอซ์แลนด์ได้ระงับการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ หลังจากรายงานของรัฐบาลระบุว่า วาฬใช้เวลานานเกินไปที่จะตายหลังจากถูกฉมวก บางครั้งหลายชั่วโมง ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์

แต่การล่าวาฬจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังจากที่คณะทำงานของรัฐบาลสรุปว่าจริงๆแล้วมันสามารถปรับปรุงวิธีการล่าสัตว์ได้

“จะมีการออกกฎระเบียบและมีข้อกำหนดโดยละเอียดและเข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับอุปกรณ์ล่าสัตว์และวิธีการล่าสัตว์ ตลอดจนการควบคุมดูแลที่เพิ่มขึ้น” กระทรวงอาหาร การเกษตร และการประมง ระบุในแถลงการณ์

ไอซ์แลนด์ประกาศว่าการล่าวาฬจะต้องเรียนหลักสูตรชีววิทยาวาฬ การรับรู้ความเจ็บปวด และความเครียด และต้องได้รับคำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการฉมวกสัตว์เพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันจะตายอย่างรวดเร็ว ไม่ทรมาน

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  • https://www.reuters.com/business/environment/iceland-resumes-fin-whale-hunting-killing-needs-be-faster-2023-08-31/
  • https://ourworldindata.org/whaling
  • Photo Credit : Reuters

 

related