svasdssvasds

รู้จัก! นกกรงหัวจุก นกทรงผมเฟี้ยว มีเสียงร้อง กวิก กวิก กวิก จริงหรือเปล่า?

รู้จัก! นกกรงหัวจุก นกทรงผมเฟี้ยว มีเสียงร้อง กวิก กวิก กวิก จริงหรือเปล่า?

ชวนรู้จัก นกกรงหัวจุกกันดีกว่า! รู้หรือไม่? นกกรงหัวจุก เป็นสัตว์คุ้มครองนะ ใครจะเลี้ยงต้องมีใบอนุญาต เสียงร้องของนกนั้นไพเราะจนคนจับมันมาเลี้ยงและแข่งขันประชันเสียง

“เสียงนกกรงหัวจุกมันริก จ่อกกวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก กวิก จ่อก จ่อก กวิก กูลิติแกว็ด” อยู่ ๆ ประโยคนี้ก็ติดหูใครหลาย ๆ คนอย่างไม่รู้ตัว จากเพลงสุดฮิตในติ๊กต่อกขณะนี้ เพลง “นกกรงหัวจุก”

ที่ต้นฉบับของเพลงนี้จริง ๆ ถูกขับร้องโดย นายควั่น ภูคา ทำนอง โดย นิธิภูมิ ณ คลองรำ เรียบเรียงโดย ประยุทธ ยอดมณี ซึ่งแต่งไว้เมื่อ 12 ปีก่อน และก็กลับมานิยมในโซเชี่ยลมีเดีย โดยมีคนนำไปสร้างเป็นท่าเต้น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของเพลงนี้ไปโดยปริยาย

ดังนั้น Springnews ในคอลัมน์ Keep The World จะขอพาไปทำความรู้จักกับสัตว์เพียงหนึ่งเดียวในเนื้อเพลงนี้ นั่นคือ นกกรงหัวจุก ที่ในความเป็นจริง นกชนิดนี้น่าสนใจกว่าที่คุณคิด

รู้จักนกกรงหัวจุก

นกกรงหัวจุก (Red-whiskered bulbul) มีชื่อเรียกที่หลากหลาย บ้างก็เรียกว่า นกปรอดหัวโขน หรือ นกปรอดหัวจุก ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมันคือ Pycnonotus jocosus เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด (Pycnonotidae) ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 109 ชนิด แต่สำหรับในประเทศไทยพบได้ 36 ชนิด

รู้จัก! นกกรงหัวจุก นกทรงผมเฟี้ยว มีเสียงร้อง กวิก กวิก กวิก จริงหรือเปล่า? ลักษณะนกกรงหัวจุก

สิ่งที่เด่นที่สุด คงหนีไม่พ้น ขนบนหัวที่ตั้งตรง อย่างกับทรงโมฮอกของมนุษย์ นกกรงหัวจุกเป็นนกขนาดเล็ก ตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาว และมีสีแดงเป็นเส้นอยู่บริเวณหลังหูลงมาถึงหน้าอก รวมถึงก้นด้วย ส่วนที่เหลือทั่วลำตัวจะเป็นสีดำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถิ่นที่อยู่อาศัย

นกกรงหัวจุก จะกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ อินเดีย จีนตอนใต้ เกาะฮ่องกง เวียดนาม ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปินส์ และพบมากที่สุดในภาคใต้ของไทย สภาพป่าที่พวกมันชอบคือ ป่าโปร่ง ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เปิดโล่งต่าง ๆ ที่ราบสูง และป่าที่ราบต่ำ เป็นต้น

Cr. ebird.org สถานะการสูญพันธุ์

เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์

นกนักร้องเสียงทองที่กลายมาเป็นสัตว์สวยงามในบ้านมนุษย์

นกปรอด หรือ นกกรงหัวจุก มักนิยมถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม เนื่องจากเสียงอันไพเราะของมัน ตามที่ได้ฟังในเพลงนกกรงหัวจุกเลย ชาวไทยโดยเฉพาะทางภาคใต้นิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนนำไปสู่การจัดการแข่งขันประชันเสียงร้องของนก ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคใต้นิยมนำนกมาชนหรือสู้กัน ก่อนภายหลังจะเปลี่ยนมาประชันเสียงร้องแทน

ด้านล่างนี้คือเสียงของนกกรงหัวจุก ลองฟังดูว่าเสียงร้องของมันเหมือนในเนื้อเพลง นกกรงหัวจุกหรือไม่?

นอกจากนี้ กิจกรรมการประชันเสียงร้องก็ได้ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างให้กับชุมชนด้วย เช่น ส่วนใหญ่ผู้คนทางภาคใต้มีอาชีพหลักคือกรีดยาง หรือขายยางพารา ดังนั้น การเลี้ยงนกที่เริ่มจากความชอบ ก็เริ่มกลายมาเป็นธุรกิจและอาชพเสริมได้ ด้วยการทำกรงนกขาย ขายอาหารนก เพาะหนอนขาย เพาะพันธุ์นก หรือพืชผลทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารนก เป็นต้น

นกกรงหัวจุก ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหรือไม่?

เนื่องจากการนิยมจับนกมาเลี้ยง จึงทำให้ในช่วงหนึ่ง ประชากรนกกรงหัวจุกร่อยหลอ จนต้องมีการนำมันเข้าสู่การคุ้มครอง ด้วยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยให้มันเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ

ผู้ที่จะเลี้ยงนกกรงหัวจุกได้นั้น จะต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมแสดงข้อมูลและภาพถ่ายสถานที่เพาะเลี้ยง โดยมีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ใบอนุญาติมีอายุ 5 ปี และเมื่ออยากจำหน่ายก็จะต้องขอใบอนุญาตเพื่อจำหน่ายอีกขั้นตอนหนึ่ง

รู้จัก! นกกรงหัวจุก นกทรงผมเฟี้ยว มีเสียงร้อง กวิก กวิก กวิก จริงหรือเปล่า? ดังนั้น ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกหลายราย จึงพยายามผลักดันให้มันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างถูกกฎหมาย ด้วยการนำออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ก็มีเสียงคัดค้านสำหรับนักนิเวศวิทยาและคนรักสัตว์ว่า สาเหตุที่นกในปัจจุบันหายไปเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการจับไปจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง

ซึ่งการจับไปจากธรรมชาติสร้างความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของนก และที่สำคัญมองว่า นกกรงหัวจุก ควรมีสิทธิเสรีในการใช้ชีวิต ไม่ใช่ถูกกำหนดให้อยู่แต่ในกรง คุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

ที่มาข้อมูล

Wikipedia

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

บ้านและสวน PET

Chiangmai Zoo

งานวิจัย นกกรงหัวจุกกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน

related