บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี 2566 Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” นำเสนอประเด็นเชื้อเพลิงอนาคตที่จะตอบโจทย์การเดินทางอย่างยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัจจุบันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์โลกที่ยั่งยืน
ภาคการขนส่งและการเดินทาง เชื้อเพลิงที่ตอบโจทย์การเดินทางและการขนส่งอย่างยั่งยืนยังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากคือ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือ Regenerative Fuels เช่น เชื้อเพลงชีวภาพ (Biofuels) ซึ่งเป็นเมโลกุลสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ
ชูเชื้อเพลิงอวกาศยานชีวภาพ
สำหรับภาคการบิน ไฮไลท์เด่นของการขนส่งบนน่านฟ้าคือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือ เชื้อเพลิงอวกาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาทิ น้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil)
SAF คือเชื้อเพลิงสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมการบิน เพื่อรับกับเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 ที่ภาคการบินตั้งเป้าหมายเอาไว้ ซึ่งกลุ่มบริษัทบางจากได้นำร่องด้วยการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อผลิต SAF แล้วที่ พระโขนง
คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2567 กำลังผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน เชื้อเพลิง SAF จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบินได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน
นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ ได้บรรยายถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในปี 2023 ไว้ว่า อัตราการเดินทางด้วยเครื่องบินของปี 2023 เติบโตได้แค่ 80% เมื่อเทียบกับปี 2019 และจะกลับมาครบ 100% ในปี 2025 แบบที่ปี 2019 เคยทำไว้ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินซบเซา
ฉะนั้น เมื่อคนเริ่มกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินกันมากขึ้นแล้ว ฉากทัศน์ต่อไปคือ สายการบินต้องเพิ่มเที่ยวบินหรือไม่ หรืออาจต้องเพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณผู้ใช้ของสายการบิน
นำมาสู่คำถามถัดมาคือ เมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาเฟื่องฟูเต็ม 100% แล้ว สายการบินควรหาทางที่จะปรับรูปแบบการบินให้เป็นการเดินทางแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ การใช้เชื้อเพลิงอวกาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน หรือ SAF นั่นเอง
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กล่าวถึง SAF ว่าเชื้อเพลิงชนิดนี้มีแนวโน้มจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับภาคการบิน โดยยกตัวอย่างกรณีของสหภาพยุโรป ที่ได้ออกกฎว่าสายการบินของประเทศใน EU ทั้ง 27 ประเทศ ที่มีเที่ยวบินตั้งแต่ 500 ไฟลท์ต่อปีขึ้นไป ต้องเติม SAF ในสัดส่วน 2% และคาดว่าสายการบินอื่น ๆ ทั่วโลก ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวน่าจะต้องปฏิบัติตามในอนาคต
ประเด็นถัดมาของวงเสวนานี้ยังกล่าวถึงฝั่งผู้บริโภคด้วยว่า จะตอบรับ SAF อย่างไร จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้จริง ๆ
นางสาวอินทิพร แต้มสุขิน (แม็กซีน) ให้ทรรศนะในจุดยืนของผู้บริโภคไว้ว่า หลาย ๆ ภาคส่วนต้องช่วยกันสร้าง awareness ให้กับผู้ใช้งานสายการบิน นักท่องเที่ยวให้รู้ว่า SAF คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการเดินทางได้
พร้อมเสนออีกว่า หากสายการบินได้รับ Label หรือ Certificate รับรอง ว่าสายการบินนี้ใช้ SAF ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ นักท่องเที่ยวก็จะเดินทางได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น
ด้านของนายสุวิกรม อัมระนันทน์ (เปอร์) กล่าวเสริมว่า กลุ่มบริษัท บางจาก และสายการบินควรร่วมมือกันเดินสายประชาสัมพันธ์ถึง SAF ให้ผู้บริโภคได้รับทราบอย่างถ่องแท้ว่า เชื้อเพลิงทางเลือกชนิดนี้สามารถยกระดับเที่ยวบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพื่อภายในปี 2050 เราจะสามารถบรรลุเป้า Net Zero ร่วมกัน
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัด Greenovative Forum เป็นประจำปีทุกปีตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อสะท้อนให้สาธารณชนได้เห็นถึงประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ควรตระหนักและร่วมมือกันแก้ไขหรือพัฒนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การบรรเทาภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bangchak.co.th และรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook: Bangchak
เนื้อหาที่น่าสนใจ