svasdssvasds

จับไต๋ ประยุทธ์ ชะลอแผนหนุนโรงงานแบตฯ อีวี กำหนดเงื่อนไขเอื้อทุนต่างชาติ ?

จับไต๋ ประยุทธ์ ชะลอแผนหนุนโรงงานแบตฯ อีวี กำหนดเงื่อนไขเอื้อทุนต่างชาติ ?

เผยไต๋ รัฐบาลรักษาการประยุทธ์ ชะลอสนับสนุนแผนตั้งโรงงานผลิตแบตฯ รถยนต์ไฟฟ้า กำหนดเงื่อนไขสูงลิ่วเอื้อทุนต่างชาติ จริงไหม ?

หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้พิจารณารับรอง เรื่องมาตรการส่งเสริมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบตเตอรี่ , ชิ้นส่วนต่าง ๆ และห้องวิจัย ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ก่อนยุบสภาและกลายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(รถอีวี) ในอาเซียน

รอรัฐบาลใหม่ ต่างชาติก็หนีไปลงทุนเพื่อบ้านหมด

การไม่พิจารณา มาตรการส่งเสริมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลโดยเฉพาะความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะย้ายกำลังการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีความพร้อมไม่ต่างกัน

PostToday อ้างอิงแหล่งข่าว จากกระทรวงพลังงาน ว่า เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการย่อมทำให้ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณต่างๆได้ก็จริง แต่หากเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศแล้ว รัฐบาลสามารถทำเรื่องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้

"หากต้องรอรัฐบาลใหม่จัดตั้งเสร็จอาจกินเวลาล่วงเลยไปถึงเดือน ก.ย.2566 ส่งผลให้ต่างชาติไม่เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอีวีไม่น้อยกว่าประเทศไทย สุดท้ายประเทศไทยจะกลายเป็นเพียงผู้ส่งออก ไม่ใช่ฐานการผลิต"

แหล่งข่าวระบุต่ออีกว่า หากมีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คนในอุตสาหกรรม 1 ล้านคนจะตกงาน การลงทุน 1 ล้านบาท ต่อ 1 โรงงานจะหายไป นอกจากนี้ยังพบว่า มาเลเซีย และเวียดนาม คือเป้าหมายฐานการผลิตของบริษัทจีน 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวคิดของบอร์ดอีวี ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ฮับในอาเซียนนั้น ต้องขับเคลื่อน 2 แนวคิด ไปพร้อมๆกัน ได้แก่

  1. กระตุ้นการใช้-ซื้ออีวี : ให้มีผู้ผลิตรถอีวีมาลงทุนในประเทศไทย ผ่านนโยบายการสนับสนุนงบประมาณ 150,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนราคารถอีวีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท มีราคาเท่ากับรถยนต์ใช้น้ำมัน ทำให้เกิดโรงงานประกอบรถอีวีในประเทศไทยหลายโรงงาน
  2. กระตุ้นการผลิต : การสนับสนุนให้เกิดซัพพลายเชน ในการผลิต เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นเพียงฐานการประกอบและส่งออกเพียงเท่านั้น การสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเป็นฮับผู้ผลิตรถอีวีครบวงจรและตอบโจทย์นโยบายของประเทศ

แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลขับเคลื่อนเพียงด้านเดียวคือการสนับสนุนให้ใช้รถอีวี แต่อีกด้านหนึ่งคือเรื่องส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย ผ่านมาปี กว่าแล้ว ตั้งแต่มีบอร์ดอีวี กลับยังไม่ได้ดำเนินการสนับสนุนเรื่องโรงงานผลิตแบตฯใดๆทั้งสิ้น

เงื่อนไขสูงเอื้อทุนนอก อ้าง ตั้งโรงงาน-รับเงินหนุน แล้วต้องส่งขายต่างประเทศได้ด้วย

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า เหตุผลที่สำคัญที่ทำให้นโยบายการสนับสนุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศเกิดขึ้น เนื่องจากมติบอร์ดอีวี มีเงื่อนไขสนับสนุนกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 8GWh/ปี 

การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว หากดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่า เป็นมาตรฐานกำลังการผลิตที่เกินจริง และยังไม่มีประเทศยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกประเทศที่กำหนดแบบให้ต่างชาติเข้ามาก่อน ที่จะนำสนับสนุนคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น แม้แต่กำลังการผลิต ก็ไม่มีใครกำหนดที่ 8GWh/ปี ญี่ปุ่นกำหนด 3GWh/ปี หรือแม้แต่ อินเดีย กำหนด 5GWh/ปี

แหล่งข่าวตั้งคำถามว่า "บอร์ดอีวี กลับกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ผลิตระดับโลก เช่นนี้อาจถูกตั้งคำถามว่า “เป็นการขายชาติ บ่อนทำลายชาติ” หรือไม่ ? ทำไม่เงื่อนไขต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติก่อน แล้วค่อยส่งเสริมบริษัทคนไทยทีหลัง"

บอร์ดอีวีอ้างว่ามีผลการศึกษาว่าต้องมีกำลังการผลิต 8GWh/ปี ไม่เช่นนั้นจะสู่กับตลาดโลกไม่ได้ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นผลการศึกษานั้น แม้แต่คนในบอร์ดเอง 

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยพบว่ามี 2 บริษัทที่สามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีได้ นั่นคือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยมีกำลังการผลิต 1GWh/ปี เท่านั้น

แต่เมื่อบอร์ดอีวี ต้องการกำลังการผลิต 8GWh/ปี ก็สามารถขยายกำลังการผลิตได้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและขับเคลื่อนนโยบายประเทศ และก็มีเอกชนเสนอตัวในการขอรับเงินสนับสนุนตามาตรการของบอร์ดอีวีแล้วด้วย เพียงแต่รอให้ครม.ลงมติ ซึ่งสุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ถอดวาระออกจากที่ประชุม

ชะลอเพื่อรอใคร ?

เพราะหากดูในรายละเอียดเงื่อนไขการสนับสนุน บนหลักการ First Come- First Serve “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” นั้น ทำให้ต้องการรอคนที่ต้องการมาพร้อมๆกันหรือไม่

ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตที่ต้องการขอรับเงินสนับสนุนสามารถรับเงินสนับสนุนได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตก่อน แต่สามารถนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปีแรก ก่อนได้ และได้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้า

PostToday ใช้คำว่า "เช่นนี้แล้วยิ่งทำให้บริษัทคนไทยที่มีโรงงานพร้อมขยายกำลังการผลิตอยู่แล้วเสียเปรียบหรือไม่"

นายยศพงษ์ ลออนวล อดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยคนแรก และนั่งเป็นบอร์ดอีวี มองว่า เรื่องกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ที่กำหนดไว้ที่ 8GWh/ปี นั้น อาจจะมองว่าเยอะ แต่ในระยะยาวอาจไม่เพียงพอ การศึกษาจึงเป็นการคาดการณ์ความต้องการใช้งานในอนาคต พร้อมยืนยันว่านโยบายรถไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นนโยบายเปิดเสรีและสนับสนุนคนไทยแน่นอน

related