SHORT CUT
วิกฤตพะยูนไทย ไปต่ออย่างไรไหม เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เต็มที เหลือไม่ถึงร้อยตัว ผลพวงจากภาวะโลกร้อนและกิจกรรมของมนุษย์ ต่อไปจะมีพะยูนในธรรมชาติให้ลูกหลานได้อนุรักษ์?
พะยูนในประเทศไทย เป็นพะยูนที่มีอยู่ชนิดเดียว คือ Dugong เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่มักจะหากินตามชายฝั่งน้ำตื้น เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นอาหารสำคัญของพะยูน นอกจากนี้ พะยูนสำหรับประเทศไทย คือสัตว์หายากและสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปีพ.ศ. 2535 และปัจจุบัน พะยูนอยู่ในสถานะ “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์”
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พะยูนไทยกำลังวิกฤตในด้านของจำนวนประชากร พวกมันมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จนมีการคาดการณ์ว่า หากไม่รีบเพิ่มมาตรการอนุรักษ์ ไทยจะสูญเสียพะยูนไปตลอดกาล สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World จึงได้สอบถามข้อมูลจากคุณก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงเชี่ยวชาญ จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ถึงสถานการณ์ของพะยูนไทยในปัจจุบัน
คุณก้องเกียรติเล่าว่า ปกติทะเลไทยจะมีพะยูนอาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งคือ ทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยปกติอันดามันจะมีพะยูนอาศัยมากที่สุดอยู่ราว ๆ 250 ตัว ส่วนอ่าวไทยจะมีประมาณ 30 ตัว แต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พะยูนมีการตายมากกว่า 154 ตัว ซึ่งฝั่งอ่าวไทยยังปกติดี แต่ฝั่งอันดามันน่าห่วงที่สุด ตอนนี้เหลือไม่ถึง 120 ตัวแล้ว
ส่วนใหญ่ในฝั่งอันดามัน พะยูนจะมีถิ่นอาศัยเป็นหลักคือจังหวัดตรังและกระบี่ แต่ก็จะกระจายฝูงไปในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ระนองไปจนถึงสตูล ตรังนี่น่าจะวิกฤตสุด ๆ จากมีร้อยกว่าตัว ตอนนี้เหลือไม่ถึง 10 ตัว ส่วนสถานะของพวกมันตอนนี้ นอกจากเป็นสัตว์สงวนปี 2535 แล้ว พะยูนยังเป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ นั่นหมายความว่า ในอนาคตลูกหลานของเราอาจจะไม่ได้เห็นพะยูนในธรรมชาติอีกแล้ว จะได้เห็นแค่ในสวนสัตว์หรือต่างประเทศแทน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้พะยูนตายจำนวนมากแบบนี้มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแรก 60% ของการตายของพะยูนไทย คือ ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดต่อหญ้าทะเล อันเป็นอาหารหลักของพะยูน โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนทำให้พื้นที่หญ้าทะเลจังหวัดตรังและกระบี่หายไปแล้วมากกว่า 20,000 ไร่ เป็นผลให้พะยูนขาดอาหาร มีการอพยพย้ายถิ่นไปยังทะเลอื่นที่ยังพอมีหญ้าทะเล ดังนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สาเหตุการตายของพะยูน 60% มาจากการป่วยจากการขาดอาหาร
และปัจจัยที่สอง อีก 40% ของการตายพะยูนมาจากอุบัติเหตุและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ติดอุปกรณ์ประมง ถูกเรือชน จากการสัญจรทางน้ำที่รวดเร็วเกินไป เพราะพะยูนเค้าจะหากินหญ้าทะเลบริเวณน้ำตื้นค่ะ ใบพัดเรืออาจไปโดนได้
สิ่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามมาช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะเป็นการเร่งสำรวจ ทั้งข้อมูลการอพยพ จำนวนประชากร สุขภาพ ถ้าไปอยู่ในทะเลไหน พื้นที่ตรงนั้นเพียงพอต่อการอพยพหรือเปล่า สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร อาจจะต้องมีการลงพื้นที่แจ้งชาวบ้านและขอพื้นที่ประมงทำเป็นพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว มีมาตรการคุ้มกัน เพราะจริง ๆ คนในพื้นที่อาจไม่ค่อยทราบว่ามีพะยูนว่ายมาใกล้ ๆ จะมีการทำเวทีประชุมเรื่องของภัยคุกคามต่าง ๆ แจ้งให้ชุมชนทราบ รวมถึงการระมัดระวังการสัญจรทางน้ำและเรื่องของมลพิษ ที่ต้องเตือนและระวังกันให้มากขึ้น
มีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเล ซึ่งกำลังเร่งทดลองวิจัยกันอยู่ เช่น มีความพยายามในการเพาะพันธุ์หญ้าทะเลในบ่อดิน เพื่อเอากล้าพันธุ์กลับไปฟื้นฟูในธรรมชาติอีกที หรืออย่างล่าสุด มีการนำผักลงไปปักให้พะยูนกินเลย อันนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่พะยูนอพยพไป แต่ไม่มีหญ้าทะเลให้กิน สุขภาพของพวกมันเริ่มย่ำแย่ เราก็ต้องมีการหาอาหารทดแทนให้กินไปก่อน เพราะกว่าหญ้าทะเลจะมีการปลูกและเติบโตได้ที่จนพะยูนกินได้ ต้องใช้เวลา 5-10 ปีเลย นี่จึงเป็นความท้าทายที่เราต้องแข่งกับเวลาและสถานการณ์ของภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพะยูนมีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด 3 เท่า ใน 2 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายของพวกเราตอนนี้คือการเพิ่มพื้นที่ของหญ้าทะเลสมบูรณ์ให้อย่างน้อยปีละ 1,000 ไร่ อย่างที่กล่าวนะคะว่าหญ้าทะเลใช้เวลาฟื้นฟู 5-10 ปี ก็อาจจะใช้เวลานานอยู่ แต่ก็หวังว่าจะมีโอกาสเพิ่มความหวังให้มากขึ้นต่อจากนี้
และที่สำคัญ ภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ อันนี้เราอาจจะต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลและการสร้างมลพิษอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามกฎของสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ