ส่งท้ายซีรีส์ Climate crisis ตอน "ฤดูฝุ่น" SPRiNG ชวนย้อนรอย ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ตั้งแต่วันเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว พร้อมบทสัมภาษณ์ของ “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช” รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาด และ“บันรส บัวคลี่” จากสภาลมหายใจเชียงใหม่
ทุก ๆ สิ้นปี แขกไม่ได้รับเชิญอย่างฝุ่น PM 2.5 จะแวะเวียนกลับมาคุกคามลมหายใจ และสุขภาพของผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี
พลิกไปดูข้อมูลจาก Air Quality Life Index (AQLI) ซึ่งสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง PM 2.5. กับอายุขัยเฉลี่ยของประชากร (Potential gain in life expectancy) พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น 1.78 ปี ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2566 คนไทยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงขึ้นมาก เช่น โรคหลอดลมอักเสบ และมะเร็งปอด
ประกอบกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 8,400,000 คน
และทุกครั้งที่เหนือท้องฟ้าเมืองไทยอบอวลไปด้วยอากาศที่ย่ำแย่ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานระดับอันตราย กลับเป็นประชาชนที่ต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ลงทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศ
แต่สำหรับบางคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ต้องยอมสูดดมฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาวะการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้คนเกิดคำถามเดียวกันคือ “กฎหมายอากาศสะอาด” อยู่ที่ไหน คืบหน้าถึงไหนแล้ว จะมีการประกาศใช้เมื่อไร
ซีรีส์ Climate Crisis ตอน “ฤดูฝุ่น” SPRiNG ชวน “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช” รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาด อัปเดตความคืบหน้าของกฎหมายอากาศสะอาด ครบจบทุกประเด็น
พร้อมทั้งพูดคุยกับ “บันรส บัวคลี่” จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ถึงความคาดหวัง และสิ่งที่ต้องการเห็นใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับใหม่ ที่จะเข้ารัฐสภาในเดือนธันวาคม 2567 นี้
กลุ่มหอการค้าจังหวัดภาคเหนือ สภาหอการค้าไทย สภาลมหายใจ เสนอกฎหมายอากาศสะอาด ด้วยรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 12,000 ราย ต่อรัฐสภา
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง งดออกเสียง 1 รับร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่ภาคประชาชนกว่า 2.2 หมื่นรายชื่อ และพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์
พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 39 คน โดยมี นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม เป็นประธานคณะกรรมาธิการ
คณะกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการทั้ง 2 ชุด มีการประชุมรวม 114 ครั้ง เพื่อแปรญัตติ และปรับปรุงเนื้อหา
เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ และไม่มีการแก้ไร ขั้นตอนถัดไปคือ ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไทย และประกาศใช้เป็นกฎหมายภาย
หากตั้งในวันที่กลุ่มหอการค้าจังหวัดภาคเหนือ สภาหอการค้าไทย และสภาลมหายใจ ร่วมมือกันเสนอกฎหมายอากาศสะอาด เมื่อปี 2563 จนถึงวันนี้ (15 พ.ย. 67) เป็นเวลา 4 เดือน กับอีก 2 วัน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยยังต้องอาศุยอยู่ภายใต้ท้องฟ้า และอากาศที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี และตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นไปในกรณีของฝุ่นภาคเหนือ
ภายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่ฝุ่น PM 2.5 ยังไม่ถูกควบคุม ต้องแลกมากับปัญหาสุขภาพของคนไทยที่ย่ำแย่ลง โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2566 คนไทยกว่า 10.5 ล้านคนป่วยด้วยโรคที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 116%
“ผมอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ และเจอปัญหานี้มาเป็นสิบปี และก็ไม่ชอบมัน (ฝุ่น) มานานแล้ว”
SPRiNG ได้พูดคุยกับ บัณรส บัวคลี่ จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้ว ฤดูฝุ่นของภาคเหนือจะเกิดช่วงกุมภาพันธ์ เรื่อยไปจนถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่หลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือเผชิญกับฝุ่นระอันดับตรายติดต่อกันหลายวัน แต่เมื่อถอยออกมามองในระดับประเทศ ช่วงเดือนธันวาคมก็ถือว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ
บัณรส บัวคลี่ คือผู้ที่ขับเคลื่อน และรณรงค์แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาตั้งแต่ปี 2558 พร้อมทั้งติดตามพัฒนาการของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ถูกเสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด หรือจากพรรคการเมือง จนถึงล่าสุดที่คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณา ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับที่ 8 และเตรียมนำเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา
แต่...
“นี่มันก็เข้าสู่กลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว ผมไม่แน่ใจว่ากว่าจะผ่านการโหวตเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และกว่าจะประกาศออกมาเป็นกฎหมาย จะทันฤดูฝุ่นในช่วงเดือนมกราคมหรือไม่ แต่ในทางการเมือง ถ้าเขาตั้งเป้าให้เสร็จ ก็สามารถรวบรัดให้เสร็จได้”
“อย่างน้อยที่สุด คือเป็นหมุดหมายทางการเมืองว่ารัฐบาลได้ผ่านกฎหมายแล้ว แต่ถ้าว่ากันเรื่องเนื้อหา ผลพวง และประโยชน์ต่าง ๆ ของกฎหมาย ยังไงก็ไม่สามารถช่วยแก้ฝุ่นปีนี้ได้อย่างแน่นอน”
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 67 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ได้แถลงรายงานความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 67 คณะกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ 2 ชุด ได้ทำการประชุมไปแล้วกว่า 114 ครั้ง เพื่อปรับปรุงเนื้อหา และหยิบยกข้อดีของ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ มารวมเป็นฉบับใหม่
จากนั้น ช่วงกลางเดือนธันวาคม 67 จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร และจะนำกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปลายเดือน ธ.ค. ปีนี้ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ในช่วงต้นปี 68
ซึ่งถ้าหากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ และไม่มีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับนี้ จะนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายภายในปี 2568
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG ว่า ตอนนี้ เวลามีน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งทางกมธ. และอนุกมธ. กำลังเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดกันอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ และมีความซับซ้อนในรายละเอียด จึงต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบด้าน แต่หลังจาก 10 เดือนที่ กมธ. ทำงานกันมา ตอนนี้ถือว่าพิจารณากันไปเกือบ 100% แล้ว
“ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ภายในสิ้นปีนี้ กมธ.ต้องทำ พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้แล้วเสร็จ และนำเข้ารัฐสภาในเดือนมกราคม ปี 68 ซึ่งทางกมธ.หวังอย่างยิ่งว่า สส. จากทุกพรรคการเมืองจะโหวตเห็นชอบกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งถ้าไม่ติดขัดอะไร น่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายช่วงกลางปี 68”
อย่างไรก็ดี ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ เปิดเผยอีกว่า คณะกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการทั้ง 2 ชุด กำลังเร่งมือพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ และมีความซับซ้อน และอ่อนไหวในหลาย ๆ ประเด็น จึงต้องใช้เวลาคิดให้รอบด้าน และถี่ถ้วนที่สุดเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
หนึ่งในประเด็นที่ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ให้เห็นก็คือ การบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาดควรคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ทำได้จริง มิใช่ทำแต่เพียงระยะสั้นแบบที่ผ่านมา และที่สำคัญต้องทำด้วยวิธีที่ยั่งยืนในระยะยาว อาทิ หาทางออกร่วมกันเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตร เร่งพัฒนาระบบขนส่ง หนุนคนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาด เป็นต้น
ขณะที่ บัณรส มองว่า การจะแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ทางภาคเหนือได้อย่างยั่งยืน ควรกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ซึ่งหากหยิบทั้ง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ร่างมาตั้งดูแล้ว มีเพียงร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับก้าวไกล เท่านั้นที่มอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อาทิ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้ก่อมลพิษ ผู้บริหารท้องถิ่นแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันให้กับประชาชนกรณีฝุ่นส่งผลต่อสุขภาพ เป็นต้น
“ระบบราชการต้องได้รับการยกระดับ เพราะที่ผ่านมาเป็นปัญหามาก ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานปกครองห้ามเข้ามายุ่งกับเขตพื้นที่ป่า เพราะเป็นเขตอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้” บัณรส กล่าว
นอกจากนี้ บัณรส มองว่า กฎหมายอากาศสะอาดต้องเข้าไปอำนวยในกระบวนการผลิต อาทิ สนับสนุนวิธีการปลูกข้าวที่ไม่ต้องเผา และให้ความชัดเจนกับชาวบ้านในพื้นที่เรื่องที่ดินทำการเกษตร กฎหมายต้องเข้ามาจัดการ และที่คาราคาซังให้มีความชัดเจน โดยเน้นย้ำว่าต้องทำในเชิงบวก มิใช่การสั่งห้าม ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญหาเรื่องสิทธิ หรือความเหลื่อมล้ำก็จะเบาบางลง
อย่างไรก็ดี ทางฟากของ ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ มองว่า เมื่อมีกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งสามารถเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษได้ บรรดาโรงงานอุตสาหกรรม หรือผู้สร้างมลพิษรายใหญ่อาจตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
เพราะจะมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น ที่สามารถดูได้แบบเรียลไทม์ และตามมาตราที่ 49 ซึ่งระบุว่า ผู้ก่อมลพิษต้องส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
“แต่เรื่องปลายน้ำก็สำคัญไม่แพ้กัน ในอนาคต หากร่าง พ.ร.บ.อากาศสามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายอากาศสะอาด อยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการนำองค์ความรู้ไปสอนเด็ก ๆ เรื่องอากาศสะอาด ปัญหาโลกร้อน รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อเป็นการสร้างบุคคลากรรุ่นใหม่ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการรักษ์โลก”
ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครล่วงรู้ว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาแล้ว จะผ่านฉลุย ได้รับการเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาหรือไม่ ในกรณีที่ ได้รับการโหวตเห็นชอบก็ถือเป็นเรื่องดี ๆ และสามารถพูดได้ว่าเป็นของขวัญชิ้นที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของคนไทย ขณะเดียวกัน ก็อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ ร่างพ.ร.บ.ถูกปัดตก หรือต้องแก้ไขในรายละเอียด
“อยากให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับนี้ ซึ่งคณะกมธ. และอนุกมธ. ทั้ง 2 ชุด ใช้เวลาพิจารณากันมา 10 เดือนเต็ม สมมติถูกโหวตไม่เห็นด้วย มันต้องกลับไปแก้ใหม่ แล้วถ้าแก้ใหม่มันก็ต้องใช้เวลาอีกนาน สุดท้ายคนที่เสียผลประโยชน์ก็คือประชาชน”
“แต่ถ้าผ่าน ปลายปี 68 ก็จะได้เริ่มเอามาใช้กันสักที แต่ถามว่าค่าฝุ่นมันจะหายไปในพริบตาเลยไหม บอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เชื่อว่ามันจะดีขึ้น” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาด กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง