SHORT CUT
พาตรวจการบ้าน! แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5-ไฟป่า ไทยแลนด์สไตล์ ที่ผ่านมาทำอะไรมาบ้าง? วิธีไหนได้ผลมากสุด และในอนาคตจากนี้ไปไทยจะรับมืออย่างไรบ้าง
ปลายปี2567 แบบนี้พื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 อีกเช่นเคย เรื่องนี้เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง พยายามแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังแก้ไม่ได้สักที พยายามแล้ว พยายามอีกยังไงก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ย.67) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 15 พ.ย.67 เวลา 07:00 น. ที่ผ่านมา
โดยค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 33.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
5 อันดับ ของค่าฝุ่น PM2.5 เขตสูงสุดในกรุงเทพมหานคร
• อันดับหนึ่งยังเป็นเขตหนองแขม 49.3 มคก./ลบ.ม.
• เขตบางนาตามมาที่ 48.5 มคก./ลบ.ม.
• อันดับสามเป็นเขตตลิ่งชัน 48.1 มคก./ลบ.ม.
• กรุงเทพชั้นในอย่างเขตสาทรติดอันดับสี่ค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 46.1 มคก./ลบ.ม.
• และเขตทวีวัฒนา 45.3 มคก./ลบ.ม.
แม้จะฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มลดลง แต่คุณภาพอากาศกรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงเทพกลาง และกรุงเทพใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ส่วนกรุงธนเหนือ และ กรุงธนใต้ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
คุณภาพอากาศระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมากควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
จะเห็นได้ว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แม้ว่าปี2567 จะมีแผนรับมือต่างๆมากมาย วันนี้ # #SPRiNG ขอพาไปย้อนดูว่าการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5-ไฟป่า ไทยแลนด์สไตล์ ทำอะไรไปบ้าง แล้วในอนาคตไทยจะทำยังไงต่อ มาเริ่มกันที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศให้หน่วยงานของ กทม. Work From Home และขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน จำนวน 151 แห่ง หรือ 60,279 คน ดำเนินการมาตรการนี้ในวันที่ 15-16 ก.พ.67
ให้ใช้รถเท่าที่จำเป็น ไม่ขับ...ช่วยดับเครื่อง ประชาสัมพันธ์ประชาชนให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ขณะที่ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน
1. บำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้รถยนต์ที่มีควันดำอย่างเด็ดขาด
2.ใช้รถเท่าที่จำเป็น ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
3. รักษาสุขภาพอนามัย
4. ตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้านจากเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
5. ปฏิบัติตามคำแนะนำ สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร
6. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
7. หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
และที่ผ่านมายังมีการขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ทำ Big Cleaning บริเวณสถานที่ก่อสร้าง และแพลนท์ปูน รวมถึงงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท พร้อมเข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท พร้อมเพิ่มความถี่ในการล้าง และดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง
พร้อมได้เชิญผู้ประกอบการคอนกรีตผสมเสร็จ หรือแพลนท์ปูน เข้ามาพูดคุยกันถึงมาตรการเข้มข้นในการป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญกลุ่มแรกจำนวน 9 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีแพลนท์ปูนอยู่ในกรุงเทพฯ 113 แพลนท์ และมีรถปูนวิ่งเข้าออกมากกว่า 1,500 คัน คิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนแพลนท์ปูนทั้งหมดในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 131 แพลนท์
นอกจากนี้ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับในที่ประชุมกับทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานต้องทำงานเชิงรุก ควบคุมทุกแหล่งกำเนิด ทุกพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรและพื้นที่อื่นๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ให้มีความปลอดภัย พร้อมเร่งยกระดับการปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น ทุกจังหวัดต้องออกประกาศควบคุมและห้ามเผา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เมื่อเกิดการเผาในพื้นที่ต้องรีบเข้าดำเนินการ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ แถลงข่าวให้พี่น้องประชาชนรับทราบสถานการณ์ มีความเข้าใจการปฏิบัติงานของภาครัฐ และปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามสถานการณ์ฝุ่นละออง
รวมถึงกาารเชื่อมโยงเกษตรกรที่ไม่เผาในพื้นที่เกษตรกับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ มาตรการด้านการค้ากับสินค้าการเกษตรที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผา การกำหนดเป็นเงื่อนไขใบอนุญาตให้โรงงานต้องไม่รับอ้อยไฟไหม้ การสนับสนุนรับซื้อใบอ้อยสดเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณาแผนฉุกเฉินสำหรับใช้ตอบโต้ในกรณีสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น
ส่วนการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามทำอยู่ แต่…ล่าสุดได้มียุทธศาสตร์ฟ้าใส ผนึกกำลังป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร่วมกับ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ. 2567 - 2573) เพื่อย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการร่วมกัน
ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวว่า ประเทศไทย โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ฝุ่นละออง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง สำหรับปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นของประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมา ทั้ง 3 ประเทศได้มีการดำเนินงานร่วมกันต่อเนื่องมากว่า 10 ปี มีการริเริ่มยุทธศาสตร์ฟ้าใส
และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน พ.ศ. 2567 - 2573 และเพื่อยกระดับความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคผ่านการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการร่วมฯ พร้อมทั้งเป็นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในวงกว้างถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศข้ามแดน เพื่อขับเคลื่อนให้ภูมิภาคของเราเป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันอย่างแท้จริงเพื่อประชาชนของเราทุกคน
ขณะที่เรื่องค่าธรรมเนียมรถติด ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด “Congestion Charge” เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ - สิงคโปร์ - สวีเดน - อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์ - ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ลดค่าครองชีพ - ลดฝุ่น PM 2.5 ยืนยันยึดประโยชน์ประชาชน - ประเทศชาติเป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง