svasdssvasds

ซีรีส์ฝุ่นพรากชีวิต: ฝุ่น PM 2.5 ฆาตกรรมคนไทยอย่างเงียบ ๆ กว่า 3 หมื่นราย

ซีรีส์ฝุ่นพรากชีวิต: ฝุ่น PM 2.5 ฆาตกรรมคนไทยอย่างเงียบ ๆ กว่า 3 หมื่นราย

ฝุ่น PM 2.5 ฆาตกรรมชีวิตคนไทยไปมากแค่ไหน และทำไมยังลอยนวลพ้นผิด?ฝุ่น PM 2.5 ฆาตกรรมชีวิตคนไทยไปมากแค่ไหน และทำไมยังลอยนวลพ้นผิด?

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนเคยชินไปแล้วว่า อย่าลืมเปิดเครื่องฟอกอากาศ สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกไปนอกบ้าน และติดตามคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด

Credit Nation Photo

 

ฝุ่น PM 2.5 ฆ่าคนไปมากแค่ไหน?

แม้ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กจนเรามองไม่เห็น ทว่า กลายเป็นอาวุธ (ไม่) ลับ ที่ฆาตกรรมคนไทยไปแล้วกว่า 33,456 คน ตามการรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ในปี 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้เก็บข้อมูลสุขภาพต่าง ๆ ของคนไทยทั่วประเทศ พบว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคที่มีต้นเหตุมาจากมลพิษทางอากาศราว 5,415,262 คน

ขณะที่ ข้อมูลจากสถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะ (Health Effect Institute) ระบุว่า ในปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 700,000 คน หรือเกือบ 2,000 คนต่อวัน

Credit Nation Photo

อันตรายของฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพ

ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละอองสามารถถูกสูดเข้าระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงปอด และบางอนุภาคยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่งร่างกาย ผลที่ตามมาคือ โรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด ฯลฯ

Credit Nation Photo

นี่กรณีของเด็ก การที่ฝุ่น PM2.5 เข้าไปสะสมในร่างกายเด็กต่อเนื่องยาว ย่อมส่งผลให้เด็กมีสมรรถภาพปอดลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และหากไม่มีการป้องกัน และปล่อยให้เด็กน้อยสูดฝุ่นไปเรื่อย ๆ อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรง อาทิ มะเร็งปอด หรือมะเร็งระบบทางเดินหายใจ

ในขณะที่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อต้องตื่นมาเจอกับวันที่ค่าฝุ่นพุ่งระดับอันตราย

 

ไม่จ่าย มีเจ็บ: คนไทยเสียเงินซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นเท่าไร?

นี่คือสภาวะการณ์ที่เกิดอย่างเป็นปรกติในสังคมไทย หลายครอบครัวต้องควักเงินซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ เครื่องฟอกอากาศ หน้ากากอนามัย ฯลฯ เพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 

ข้อมูลจากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า ครัวเรือนไทยเสียเงินไปกับซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 6,124 บาทต่อครัวเรือน แต่การปกป้องตัวเองจากฝุ่นพิษอย่างเดียวไม่พอ หากสภาพแวดล้อมยังคงคละคลุ้งไปด้วยฝุ่น และไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล

จนกระทั่งนำมาสู่ความสูญเสีย...

 

ฝุ่น PM 2.5 พรากชีวิต

วันที่ 3 เม.ย. 2567 เพจ Faculty of Architecture, Chiang Mai University ได้โพสต์ข้อความแจ้งข่าวการจากไปของศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ซึ่งทางด้านของ จิตกร โอฬารรัตน์มณี (สามี) ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังว่า ได้นำเนื้อเยื่อของภรรยาไปตรวจเพื่อหาสาเหตุของมะเร็ง และพบว่าเป็นผลจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้ยีนส์กลายพันธุ์

“เราพบปัญหาฝุ่น PM  2.5 มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดผลกระทบกับเราอย่างชัดเจน เราจึงไม่ให้ความสำคัญ แต่เมื่อวันหนึ่งถ้าคนในครอบครัวหรือตัวเราเองป่วยเป็นมะเร็งปอด เราจะรู้ทันทันทีว่า PM 2.5 มันเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงมาก” จิตกร กล่าว

Credit Nation Photo

นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ มช. อีก 3 ท่าน ที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง ได้แก่ 

  • รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
  • รศ.ดร.มงคล รายะนคร อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์
  • นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิก และสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์

และอีกหลายหมื่นรายชื่อที่ไม่สามารถเขียนบรรจุได้หมดที่นี่ แต่ได้จากโลกนี้ไป เพราะฝุ่น PM 2.5 ด้วยเหตุฉะนี้ ประชาชนตั้งคำถามว่า ต้องให้สูญเสียกี่อีกชีวิต ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถึงจะได้รับการแก้ไข หรือคนไทยมีธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่องแล้ว นั่นก็คือ “พิธีสูดฝุ่นประจำปี”

 

วันแย่ ๆ (ที่หมายถึงอากาศแย่)

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากเกินนี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในขณะที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาชัดเจนว่า หากค่าเฉลี่นฝุ่นละอองเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากเกินนี้ถือว่าเป็นอันตรายสุขภาพ ดังนั้น ถ้ายึดตัวเลขของไทย อาจพอกล่าวได้ว่า คนไทยสูดฝุ่นพิษเกินค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า ถึงจะเรียกว่า "เป็นอันตราย"

Credit Nation Photo

และถ้าหากนำค่าฝุ่น 50 ไมโครกรัมมาคำนวณ โดยใช้จังหวัดเชียงใหม่เป็นกรณีศึกษา มาดูกันหน่อยว่า 3 ปีย้อนหลัง คณาจารย์ มช. และประชาชนชาวเชียงใหม่ต้องทนอยู่กับวันที่มีอากาศแย่กี่วัน

SPRiNG ได้ทำการรวบรวม และได้รับข้อมูลมาจาก Air4thai และ CMU CCDC ผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้

  • ปี 2566 - 94 วัน
  • ปี 2566 - 63 วัน
  • ปี 2567 - 49 วัน

อย่างไรก็ดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระกาศใช้ค่าดัช นีคุณภาพอากาศ (AQI) ตามค่ามาตรฐาน PM 2.5 ใหม่ในประเทศ ที่จะปรับจาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.ต่อลบ.ม.) เป็น 37.5 มคก.ต่อลบ.ม. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

 

จนกว่า เสี่ยงกว่า: ฝุ่น PM 2.5 ความเหลื่อมล้ำในลมหายใจ

การศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย ได้ทำการค้นหาว่าแท้จริงแล้วปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในชีวิตประจำวันที่เราต้องทนกันอยู่ ส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากที่ใด 

ผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ถึงต้นตอฝุ่นพิษ สามารถสรุปได้เป็น 4 ข้อดังนี้

  1. การเผาไหม้ จากบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วปล่อย PM 2.5 มากที่สุดถึง ร้อยละ 54 ต่อปี
  2. การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากเครื่องยนต์ โดยเฉลี่ยแล้วปล่อย PM 2.5 ประมาณร้อยละ 13 ต่อปี
  3. สารเคมีและอุตสาหกรรมการผลิต พบมากในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยปล่อย PM 2.5 ราวๆ ร้อยละ 17 ต่อปี
  4. การผลิตไฟฟ้าทำให้มีการปล่อยฝุ่น PM 2.5 สู่อากาศ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 8 ต่อปี

จากข้อมูลชุดนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ต้นตอฝุ่น PM 2.5 มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

แต่ความตลกร้ายก็คือ ผู้มีรายได้น้อย หรือที่เราเรียกกันว่า “คนจน” กลับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด ที่จะสูดรอบฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากวิถีการใช้ชีวิตที่ไม่อาจรอดพ้นการคุกคามของฝุ่นได้

ยกตัวอย่างที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันก็คือ สำหรับผู้มีรายได้น้อย การขึ้นรถเมล์คือขนส่งสาธารณที่ประหยัดที่สุด แต่นั่นแลกมากับระยะเวลาที่พวกเขาต้องสูดดมฝุ่นเข้าไปเป็นเวลานาน เป็นเดือน เป็นปี 

แต่กลุ่มคนที่มีรายได้สูง สามารถป้องกันตัวเองจากฝุ่นได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำเลที่ปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศอย่างดีไว้ทั่วทุกมุมของบ้าน หรือแม้กระทั่งเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

Credit Nation Photo

อย่างไรก็ดี ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเป็นสิ่งที่คอยกวนใจรัฐบาลอยู่รำ่ไปในการรับมือ และถูกทวงถาม พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งมีข่าวคราวว่าจะมีการบังคับใช้ ภายในปี 2568 และทุกคนทราบดีว่า ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2563 และทุกครั้งที่มีคำถามว่า เมื่อไหร่จะได้ใช้ คำตอบที่ได้คือ “อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา”

มารอดูกันว่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะคอยท่า หรือเดินหน้าคุกคามสุขภาพชีวิตชาวไทยอย่างไม่ปราณี


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related