SHORT CUT
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เหมือนพายเรือในอ่างวนไปเวียนมา ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ไทยสุดทางแก้ไข? ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ เผย กทม.-ปริมณฑล ฝุ่นพุ่งหนัก 24-27 ต.ค. นี้ เตรียมยกระดับมาตรการคุ้มเข้มฝุ่นทั่วประเทศ มั่นใจ ฝุ่นไม่รุนแรงเท่าต้นปี 67
ปลายปี2567 แบบนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่จะวนเวียนกลับมาเป็นประจำตามนัดทุกปี ดุจดั่งการพายเรือในอ่างวนไปวนมา แล้ว…ก็วนไปวนมา แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ลดเผาป่าต่างๆ และบางครั้งอาจต้องขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนให้ลดลง รวมไปจนถึงภาคธุรกิจต่างๆที่มีโอกาสทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ช่วยกันคุมฝุ่นช่วงปลายปี แต่…ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ยั่งยืน จนกระทั่งมีการไปพูดคุยเรื่องลดการเผากับประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็ตาม
อย่างล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีมติสำคัญในการเห็นชอบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 สำหรับปี 2568 โดยการบริหารจัดการที่ยกระดับจากปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการสะสมของฝุ่นละอองอย่างมากในช่วงฤดูหนาว
โดย นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ภายหลังจากฤดูฝุ่นละอองและหมอกควันของปี 2567 สิ้นสุดลง กรมควบคุมมลพิษได้ทบทวนบทเรียนจากการดำเนินมาตรการที่ผ่านมา โดยได้สรุปผลและประเมินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการในการระดมความคิดเห็นเพื่อยกระดับมาตรการรับมือในปี 2568
สำหรับหนึ่งในมาตรการที่สำคัญคือการจัดทำแผนที่เสี่ยงการเผาและฝุ่น (Risk Map) ล่วงหน้า ซึ่งเป็นแผนการปฏิบัติงานเชิงรุกที่จะช่วยให้สามารถควบคุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่มักจะเกิดไฟป่าซ้ำซาก รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ซึ่งจะต้องได้รับการบริหารจัดการโดยการลงทะเบียนเกษตรกรและควบคุมการใช้ไฟในพื้นที่เหล่านี้
ในขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ ยังได้กำหนดมาตรการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง โดยมุ่งเน้นการควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เสี่ยงสูง พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงการจัดการฝุ่นที่เกิดจากการเผาในพื้นที่ชุมชนและริมถนน โดยเป้าหมายของปี 2568 คือการลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่าลงร้อยละ 25 และลดการเผาในพื้นที่เกษตรลงร้อยละ 10-30
ด้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้วางแผนการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน เพื่อจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทย การประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านนี้เป็นการป้องกันการลุกลามของไฟป่าที่มาจากนอกพรมแดน และลดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองข้ามประเทศเข้าสู่ไทย
ทั้งในส่วนของการดำเนินการในปี 2568 จะต้องเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และการระดมทุนสนับสนุนจากทั้งสองภาคส่วนเพื่อผลักดันให้มาตรการเหล่านี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประเมินผลการดำเนินงานในปี 2568 โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการควบคุมค่า PM2.5 ในช่วง 24 ชั่วโมง ให้ไม่เกินค่าที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน มาตรการนี้จะถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงจากการเผาไหม้
กรมควบคุมมลพิษ ยังได้มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมฝุ่น โดยได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวังในหลายพื้นที่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการติดตามสภาพอากาศและการสะสมของฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถปรับตัวและวางแผนชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
สำหรับมาตรการเชิงรุกในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน เพื่อช่วยลดการเดินทางและลดการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะในช่วงวิกฤต นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองโดยการสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสฝุ่นในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
“จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในปี 2568 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองน้อยที่สุด และเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยในอนาคต”
นอกจากนี้ "ปรีญาพร สุวรรณเกษ" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการฯ และกลไกการบริหารจัดการ ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด
โดยมีทั้งสิ้น 6 แนวทางลด PM2.5 ปี 2568 ดังนี้
1. ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด
2. การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
3. การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
4. การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผา ในเขตชุมชนและริมทาง
5. การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่น PM2.5 มาตามนัด! เตือนกทม. – ปริมณฑล 9 ต.ค. 67 ฝุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น
ฝุ่น PM2.5 เชียงใหม่อันดับ 1 อากาศแย่โลก ทั่วไทยระอุ 40-42 องศา
ฝุ่น PM2.5 เชียงใหม่อันดับ 1 อากาศแย่โลก ทั้งสัปดาห์ ประกาศ WFH แล้ว 9-11 เม.ย.