SHORT CUT
IQAir รายงานสภาพอากาศปี 2023 พบว่า 100 เมืองที่มีอากาศแย่ที่สุด อยู่ในเอเชียไปแล้ว 99 เมือง อยู่ใน “อินเดีย” ถึง 83 เมือง “ไทย” ติดอันดับ 36 ของโลก เมืองที่อากาศแย่ที่สุดคือ อ.พาน จ.เชียงราย
IQAir หน่วยงานติดตามคุณภาพอากาศ เผยแพร่ผลการศึกษาใหม่ ซึ่งตรวจสอบความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศของเมืองต่างๆ ทั่วโลก และพบว่า มีเพียง 7.5% จาก 7,812 เมืองใน 134 ประเทศและดินแดนที่พวกเขาตรวจสอบเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
การศึกษานี้เก็บข้อมูลเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดเพียง 2.5 ไมครอน หรือ 1 ใน 30 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมเส้นเดียว แต่ก็เป็นอันตรายมากที่สุด โดยทำการเก็บข้อมูล 7,812 เมือง ครอบคลุม 134 ประเทศ ภูมิภาค และเขตแดน พบว่า มีเมืองเพียง 9% ที่มีคุณภาพอากาศตรงตามมาตรฐานของ WHO ที่ระบุว่าระดับ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมือง “เบกูซาไร” เมืองที่มีประชากรราว 5 แสนคน ตั้งอยู่ในรัฐพิหารทางตอนเหนือของอินเดีย ครองตำแหน่งเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2023 มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 118.9 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ของ WHO ถึง 23 เท่า
รายงานระบุว่า ประชากรอินเดียจำนวน 1,300 ล้านคน หรือคิดเป็น 96% ของประเทศ ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี ค่า PM2.5 สูงกว่ากำหนดถึง 7 เท่า
จากข้อมูลพบว่าประเทศทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียกลาง และแอฟริกา แต่ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ “เอเชียใต้” เพราะมีถึง 29 เมืองของอินเดีย ปากีสถาน หรือบังกลาเทศ ติด 30 อันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด
ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแหล่งที่มาหลากหลาย ทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ พายุฝุ่น การเผาขยะและไฟป่า เมื่อสูดดม PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ฝุ่นจิ๋วนี้สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า PM2.5 ทำให้เป็นโรคหอบหืด โรคหัวใจและปอด มะเร็ง และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ รวมถึงความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก
IQAir พบว่า คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2023 แย่กว่า 2022 โดยมีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เพิ่มขึ้นกว่า 20% และใน 5 พื้นที่ที่คุณภาพอากาศแย่ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี 2022 ไม่มีพื้นที่ไหนที่มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงเกินนี้
จากรายงานระบุว่า “ประเทศไทย” มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 4.7 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2022
ขณะที่ อ.พาน ใน จ.เชียงราย และ อ. ปาย ของ จ.แม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2023 เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด ในจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเพิ่มจาก 53.4 เป็น 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 150% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022
กรุงเทพมหานคร ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 37 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 21.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ตามรายงานจากผลสำรวจ 134 ประเทศและภูมิภาคที่สำรวจ มีเพียง 7 เมืองเท่านั้นที่มีอากาศสะอาด ค่า PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่ WHO กำหนด
7 เมืองที่อากาศบริสุทธิ์
จากข้อมูลรายงาน คุณภาพอากาศโลกปี 2566 แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่ต้นเหตุของแหล่งกำเนิด PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยต้องกำหนดนโยบาย งบประมาณ และยกระดับให้เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเหนือกลุ่มทุนอุตสาหกรรม เพราะการเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนบนโลกใบนี้
PM 2.5 เช้านี้ พบ จัตรตุจักร กรุงเทพมหานคร ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 149 AQI
หลังจากที่จากกรณีกลางดึกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 67 โซเชียลฯ เผยข้อมูลพบกลิ่นไหม้ ฝุ่นPM 2.5 กรุงเทพ นนทบุรี ปริมณฑล เมื่อเวลา 00.32 น. วันที่ 21 มีนาคม เว็บไซต์ iqair รายงานสถานการณ์อัปเดตว่า กรุงเทพมหานคร ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงอันดับที่ 3 ของโลก โดยมีค่าฝุ่นPM 2.5 อยู่ที่ 168 AQI ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกคน
ล่าสุด วันที่ 21 มีนาคม 2567 เวลา 8.00 น.(เวลาท้องถิ่น) เว็บไซต์ iqair รายงานสถานการณ์อัปเดตว่า จตุจักร กรุงเทพมหานคร ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีค่าฝุ่นPM 2.5 อยู่ที่ 149 AQI ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ป่วยทุกคนที่ร่างกายอ่อนแอ
ที่มา : CNN , The Guardian