สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ชี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และเศรษฐกิจที่ขยายตัว
จากรายงานแนวโน้มด้านพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6 จัดทำโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ระบุว่า บทบาทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระบบพลังงานโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายในช่วงทศวรรษหน้า โดยคาดว่าภูมิภาคนี้จะมีส่วนสนับสนุนด้านการผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทั่วโลก
โดยมีการคาดการณ์ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการพลังงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากร และการผลิตที่รวดเร็ว ซึ่งจะคุกคามความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาค
ขณะที่หลายประเทศกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม มีเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่ง ซึ่งคาดว่าจะส่งเสริมให้หลายประเทศ เช่น เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย มีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลกมากขึ้น แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่มากกว่าเดิม หากต้องการบรรลุข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของความต้องการพลังงานของโลกร้อยละ 25 ระหว่างปี 2024 ถึง 2035 ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าของภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในอัตราประมาณร้อยละ 4 ต่อปี
ส่วนการติดตั้งโครงการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวลสมัยใหม่ และพลังงานความร้อนใต้พิภพทั่วทั้งภูมิภาคจะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าหนึ่งในสามภายในปี 2035 ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาลเช่นกัน ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภูมิภาคจะยังเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2024 ถึง 2050
ฟาติห์ บิโรล ผู้อำนวยการบริหารของ IEA อธิบายว่า “ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้มีแหล่งพลังงานที่หลากหลาย รวมถึงพลังงานหมุนเวียนที่มีการแข่งขันสูง แต่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดยังไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเพียงพอ และการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ประเทศต่างๆ มีความเสี่ยงในอนาคตอย่างมาก
ที่ผ่านมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความก้าวหน้าอย่างมากในประเด็นต่างๆ เช่น การเข้าถึงพลังงาน การปรุงอาหารที่สะอาด และการพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาด แต่ขณะนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในประเทศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลงทุนสำหรับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้”
คาดว่าเวียดนามจะยังคงเป็นผู้นำตลาดพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาคืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม รายงานของ IEA ระบุว่า การคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 นั้นยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับแนวโน้มทั่วโลก และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น