SHORT CUT
พามาเปิด เปิดเส้นทาง “พายุโซนร้อนจ่ามี” กระทบที่ไหนบ้าง เตือนคนไทยไปฟิลิปปินส์ ให้ศึกษษข้อมูลให้ดี ส่วนบ้านเรายังไม่กระทบ
ปีนี้เป็นปีที่เรียกได้ว่าพายุเข้าบ่อยมาก ลูกเก่าไปลูกใหม่มา ล่าสุดเป็นคิวของ "พายุโซนร้อนจ่ามี" ที่คาดเคลื่อนตัวลงทะเลจีนใต้ตอนบนวันที่ 23-24 ต.ค.67 นี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เมื่อเวลา 04.00 น. พายุดีเปรสชันในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "จ่ามี (TRAMI)"แล้ว
สำหรับเส้นทางพายุจ่ามี กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก พายุนี้ยังอยู่ห่างจากประเทศ คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงวันที่ 24- 25 ต.ค.67 หลังจากนั้นลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และเคลื่อนไปทางตะวันออกของประเทศจีน เข้าใกล้เกาะไหหลำ และชานฝั่งประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้คาดว่าพายุนี้ยังไม่มีผลกระทบกับสภาพอากาศประเทศไทยในระยะนี้ แต่ยังต้องติดตามในช่วงวันที่ 26 -27 ต.ค.67 เมื่อพายุเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทางตะวันออกของภาคอีสานได้ อาจมีลมแรงเนื่องจากมีมวลอากาศเย็นอยู่ด้านหน้าของพายุ แผ่ลงมาปกคลุม ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยา ขอเตือนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ขอให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ ข้อมูลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้
ด้านสภาพอากาศประเทศไทยวันนี้ 22 ตุลาคม 2567 พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง