svasdssvasds

น้ำจะมาแล้ว กรุงเทพพร้อมยัง? สำรวจความพร้อมอุโมงค์และสถานีระบายน้ำ กทม.

น้ำจะมาแล้ว กรุงเทพพร้อมยัง?  สำรวจความพร้อมอุโมงค์และสถานีระบายน้ำ กทม.

สถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าห่วงทั้งทางเหนือและทางอีสาน จุดคำถามว่า กทม.พร้อมแค่ไหน ถ้าหากน้ำเหนือเดินทางมาถึง?

จากเอกสารการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ ที่ กทม.แจกให้แก่สื่อมวลชนระบุว่า ในปัจจุบัน กทม.มีโครงสร้าง ดังนี้ 

  • สถานีสูบน้ำ 195 แห่ง (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 96 สถานี)
  • บ่อสูบน้ำ 376 แห่ง
  • ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง 
  • อุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง

โดยช่วงที่ผ่านมา ได้มีการขุดลอกคูคลองไปแล้วทั้งหมด 184 คลอง (เสร็จ 98% ของทั้งหมด) เปิดทางน้ำไหล 1,330 คลอง (เสร็จ 96% ของทั้งหมด) และล้างทำความสะอาดท่อ 4,309 (เสร็จ 91% ของทั้งหมด) รวมถึงได้มีการตรวจและเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ อาทิ เครื่องสูบน้ำ, รถโมบายยูนิต รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้แล้ว 

หลังจากได้ลงพื้นที่สำรวจจุดฟันหลอของ กทม. และการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ปริมณฑลจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี ทีม Spring News ได้ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำของ กทม. พร้อมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน 

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ 

สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ ที่ตั้งอยู่ด้านในวัดแก้วฟ้าจุฬามณี คอยทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในคลองบางซื่อที่เชื่อมต่อกับคลองสำคัญอื่น เช่น คลองเปรม ผ่านการเปิดปิดประตูน้ำ และเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 17 ตัวผ่านการสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงมีอุโมงค์ระบายน้ำที่เริมตั้งแต่ช่วงถนนวิภาวดีคอยช่วยดูแลระดับน้ำ

ในขณะที่เราเดินทางไปถึง เครื่องสูบน้ำบางส่วนกำลังทำงานอยู่ และมีขยะจำนวนมากที่ถูกเครื่องคัดแยกขยะของโรงสูบน้ำกวาดขึ้นมา ทางด้านเจ้าหน้าที่ชี้ถึงปัญหาขยะว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบระบายใน กทม.มีปัญหา เพราะขยะขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก 

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

ในมุมของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านน้ำ เขามองว่าสถานการณ์ยังต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะในเดือน กันยายน - ตุลาคมที่น้ำทะเลหนุนสูง และพายุจะเดินทางมาถึง (ตามคาดการณ์มี 1-2 ลูก) 

“แต่ถ้าแบบที่ผ่านมาโอเค ปลอดภัยไร้กังวล อย่าไปตื่นตระหนกเกินไป ฟังหูไว้หู” เจ้าหน้าที่กล่าว 


 

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

สถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่

เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบศูนย์ระบายน้ำคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ด้านของวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหารให้ข้อมูลว่า สถานีนี้เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำหลักของฝั่งธน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คอยควบคุมระดับน้ำภายในคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเป็นคลองสำคัญที่แยกออกไปสู่คลองสำคัญอื่นๆ เช่น คลองภาษีเจริญหรือคลองด่าน หากน้ำมากเกินไปจะมีการปิดประตูน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยด้านในสถานีสูบน้ำแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง รับผิดชอบเครื่องสูบน้ำ 18 เครื่อง 

“เราเตรียมพร้อม 24 ชม. และท่านผู้ว่าให้สัมภาษณ์อยู่ว่าสถานการณ์ยังไม่น่ากังวล เราเข้าใจความกังวลของประชาชน แต่อยากให้ประชาชนตั้งสติให้ดี แล้วติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด กรุงเทพมีความสามารถในการระบายได้อีก เราบริหารจัดการได้” เจ้าหน้าที่กล่าว 

เจ้าหน้าที่เสริมว่าบทเรียนจากอุทกภัยปี 54 ทำให้ กทม.เสริมความสูงของเขื่อนริมน้ำเจ้าพระยาเป็น  2.8-3.5 ม. ถึงแม้จะมีบางจุดที่ฟันหลอ ไม่สารถก่อสร้างเขื่อนได้ ทาง กทม. ก็มีการเรียงกระสอบทรายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าชั้นในไว้แล้ว 

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน

อีกหนึ่งโครงสร้างหลักในการจัดการจัดการน้ำของ กทม.คือ อุโมงค์ระบายน้ำทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 

  • อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2 ระบายน้ำริมคลองเปรมประชากรเขตบางซื่อ, จตุจักร, หลักสี่ และดอนเมือง
  • อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง, บางกะปิ, บึงกุ่ม, วัฒนา, วังทองหลาง และลาดพร้าว
  • อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง, ดินแดง, พญาไท, จตุจักร, ลาดพร้าว, วังทองหลาง, บางซื่อ และดุสิต
  • อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา, ปทุมวัน, ราชเทวี, พญาไท, ห้วยขวาง และดินแดง

ทั้งนี้ กทม. มีแผนสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่มอีก 6 แห่ง โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 แห่ง และอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2566 อีก 2 แห่ง ซึ่งถ้าหากแล้วเสร็จ จะทำให้ อุโมงค์ยักษ์สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 433 ลบ.ม./ วินาที

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา

สถานีสูบน้ำพระโขนง

หากจะพูดถึงสถานีสูบน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งใน กทม. คงไม่พ้นสถานีสูบน้ำพระโขนง ซึ่งคอยสูบน้ำจากพื้นที่เขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรีหนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 

โดยด้านในสถานีสูบน้ำแห่งนี้ มีเครื่องสูบน้ำ 51 เครื่อง กำลังสูบ 173 ลบ.ม./ วินาที และมีอุโมงค์พระโขนงที่ด้านในมีเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 4 เครื่อง และมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 360 กม. คอยจัดการระดับน้ำภายในพื้นที่เขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรีหนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าว 

เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าการดำเนินการยังไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูสถานการณ์ในเดือน กันยายน - ตุลาคมเช่นเดียวกันว่าสถานการณ์พายุฝนและน้ำหนุนจะเป็นอย่างไรต่อไป 

ภาพ: ณปกรณ์​ ชื่นตา
ภาพ: ณปกรณ์​ ชื่นตา

related