svasdssvasds

ส่อง มาตรการรับมือน้ำท่วมจีน วางเครือข่ายป้องกันน้ำท่วมทั่วประเทศอย่างไร

ส่อง มาตรการรับมือน้ำท่วมจีน วางเครือข่ายป้องกันน้ำท่วมทั่วประเทศอย่างไร

จีนมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะขณะนี้จีนกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า "เครือข่ายป้องกันน้ำท่วม" ทั่วประเทศ พร้อมนำเทคโนโลยีอย่างเอไอมาใช้ทันสมัยขั้นสุด

SHORT CUT

  • จีนเผชิญน้ำท่วมรุนแรงจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่าสูงในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
  • จีนพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมด้วยโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทันสมัย เช่น AI, Big Data และโดรน เพื่อคาดการณ์และจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มณฑลกวางตุ้งใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า "31631" ที่ให้ข้อมูลละเอียด ตั้งแต่ 3 วันก่อนเกิดเหตุจนถึง 1 ชั่วโมงสุดท้าย ช่วยเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือได้ดีขึ้น

จีนมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะขณะนี้จีนกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า "เครือข่ายป้องกันน้ำท่วม" ทั่วประเทศ พร้อมนำเทคโนโลยีอย่างเอไอมาใช้ทันสมัยขั้นสุด

ปีนี้นับว่าเป็นปีที่จีนเจอฝนตกและน้ำท่วมค่อนข้างหนัก ซึ่งในเวลานี้ สภาพอากาศอันสุดโต่งถูกชี้ว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล หรือปกติใหม่ไปแล้วสำหรับจีน โดยในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา จีนเกิดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่ามากถึง 12,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 57,000 ล้านบาท จากฝนตกหนักและน้ำท่วม

อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังน้ำท่วมหนักของจีนเมื่อเร็วๆนี้

มีปัจจัยมากมายที่อยู่เบื้องหลังเหตุฝนตกหนักและน้ำท่วมจีนในปีนี้ ดร.โอลิเวอร์ วิง นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบริสทอลเปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าโลกร้อนจะทำให้โลกของเราเกิดฝนตกมากขึ้น เนื่องจากสมการคลอเซียส-คลาเปย์รอง ซึ่งตามความสัมพันธ์นี้ชี้ว่า อากาศสามารถกักเก็บความชื้นได้เพิ่มขึ้นราว 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส หมายความว่า จะมีฝนตกหนักมากขึ้นในโลกที่ร้อนขึ้น

นอกเหนือไปกว่านั้น ความร้อนของโลกยังไปชักนำทำให้เกิดน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก หมายความว่า สตอร์มเซิร์จหรือคลื่นพายุซัดฝั่งก็จะสูงขึ้น

สำหรับในจีน อากาศที่ร้อนขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝนตกหนักขึ้นในหลายมณฑลทางชายฝั่งตอนใต้ของประเทศ เช่น กวางตุ้งและกวางซี นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญก็ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในจีนบ่อยขึ้น เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย

PHOTO : Reuters

ระบบป้องกันภัยน้ำท่วมในจีน

จีนเป็นประเทศที่มีแม่น้ำสายใหญ่มากมายไหลผ่านภายในประเทศ และพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำก็มักจะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ดังนั้นจีนจึงได้สร้างโครงการเกี่ยวกับน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น โครงการผันน้ำใต้-เหนือในแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2002 และโครงการล่าสุดที่น่าสนใจคือ “เครือข่ายน้ำแห่งชาติ” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2035 โดยคาดว่า โครงการเครือข่ายน้ำแห่งชาตินี้จะเป็นเสาหลักที่คอยช่วยป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ลักษณะของโครงการเหล่านี้คือการติดตั้งประตูป้องกันน้ำท่วม ประตูระบาย เขื่อน และทางผันน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงน้ำท่วมด้วย

ขณะเดียวกัน จีนยังได้พัฒนาระบบเฝ้าสังเกตการณ์และป้องกันภัยน้ำท่วมโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น อินเทอร์เน็ต ข้อมูล และเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยด้วย

PHOTO : Xinhua

อย่างในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน จะมีการรวบรวมข้อมูลจากกล้องความคมชัดสูง ใช้แผนที่เรด้า และดาวเทียม เพื่อช่วยในการอัพเดทข้อมูลเรื่องน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ ส่วนที่เมืองหนิงโป เมืองท่าทางชายฝั่งตะวันออกของจีน ที่นั่นทำงานร่วมกับบริษัทโทรศัพท์มือถือเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและกระจายข้อมูลออกไป

กระทรวงจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของจีนเปิดเผยว่า การใช้มาตรการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติลดลงถึง 54 เปอร์เซ็นต์ระหว่างช่วงปี 2018-2022 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2013-2017

นอกจากนี้ ที่เมืองกุ้ยผิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เกิดน้ำท่วมบ่อยเนื่องจากตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำจู ก็ได้ใช้เทคโนโลยีอย่าง big data และ AI ช่วยสร้างแบบจำลองของแม่น้ำ ทะเลสาบและแหล่งน้ำอื่นๆ เพื่อใช้คาดการณ์การเกิดน้ำท่วม โดยหลี หยิง วิศวกรด้านน้ำประจำโครงการดังกล่าวเปิดเผยว่า พวกเขาจะคาดการณ์น้ำท่วมล่วงหน้าถึง 10 วัน และประเมินระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นล่วงหน้าก่อน 48 ชั่วโมง

และอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญคือโดรน เพราะจีนใช้โดรนในการเก็บข้อมูลเรื่องน้ำท่วมและยังเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับทีมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย นอกจากการส่งโดรนไปสำรวจข้อมูลและเก็บภาพได้แล้ว โดรนยังสามารถนำส่งสิ่งของเข้าไปยังพื้นที่ที่ถูกตัดขาดได้อีกด้วย

PHOTO : Xinhua

ระบบเตือนภัยน้ำท่วมในจีน

จริงๆแล้วจีนมีระบบเตือนภัยน้ำท่วมมากมาย แต่ที่น่าสนใจจนต้องหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือที่มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเผชิญกับพายุค่อนข้างบ่อย เพราะตั้งอยู่ติดกับชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศ หลังจากที่เจอกับไต้ฝุ่นหลายต่อหลายครั้ง กวางตุ้งก็คิดค้นระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีชื่อว่า “31631” ขึ้นมา โดยตัวเลขแต่ละตัวจะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป

  • 3 ตัวแรกหมายถึงระบบจะเตือนภัยล่วงหน้า 3 วัน และจะมีการออกประกาศคาดการณ์สภาพอากาศ
  • 1 ตัวถัดมา หมายถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและตีกรอบให้แคบลงที่สุดภายใน 1 วันก่อนเกิดเหตุการณ์
  • 6 ตัวถัดไปหมายถึง 6 ชั่วโมงก่อนหน้าต้องมีการประกาศพื้นที่ความเสี่ยงสูง
  • 3 ตัวต่อมาหมายถึง 3 ชั่วโมงก่อนหน้าจะชี้ชัดเรื่องพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงให้แน่ชัด
  • 1 ตัวสุดท้ายหมายถึง 1 ชั่วโมงก่อนหน้าจะออกประกาศเตือนครั้งสุดท้าย และจะระบุแม้กระทั่งชื่อถนน

รายงานระบุว่า ระบบเตือนภัยเช่นนี้จะทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำเตือนครั้งแรก พวกเขาก็จะรู้ว่าต้องรับมือกับอะไรบ้าง และสามารถเตรียมความพร้อมได้

ที่มา

related