svasdssvasds

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

ปี ค.ศ.2050 เป็นปีที่ผู้เชี่ยวชาญ และ หลายองค์กรฟันธงว่า ถึงคราวที่กรุงเทพมหานครและหลายๆ เมืองจะจมอยู่ใต้บาดาลจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

SHORT CUT

  • กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำในอีก 26 ปี เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยคาดว่าปี 2050 น้ำทะเลจะสูงขึ้น 60-75 ซม. ท่วมคันกั้นน้ำปัจจุบัน
  • แนวทางแก้ปัญหารวมถึงการสร้างคันกั้นน้ำใหม่ที่สูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีจัดการน้ำ และอาจใช้โมเดลเนเธอร์แลนด์สร้างกระเปาะที่ปากแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเล
  • มีข้อเสนอให้สร้าง "เมืองคู่แฝด" ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อกระจายความเจริญ และลดความแออัดในกรุงเทพฯ แทนการย้ายเมืองหลวงซึ่งทำได้ยาก

ปี ค.ศ.2050 เป็นปีที่ผู้เชี่ยวชาญ และ หลายองค์กรฟันธงว่า ถึงคราวที่กรุงเทพมหานครและหลายๆ เมืองจะจมอยู่ใต้บาดาลจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี จากภาวะโลกร้อนทำให้กรุงเทพเสี่ยง “จมน้ำ” เป็นข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันตรงกัน ทั้งรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB,MQDC และ คุณชวลิต จันทรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

รศ.ดร.เสรี อธิบายว่า IPCC คาดการณ์ระดับโลกและระดับภูมิภาคว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4 มิลลิเมตรต่อปี และมีปัจจัยเร่งที่ทำให้กรุงเทพจมน้ำเร็วขึ้น อีกประมาณ 6 ปี ข้างหน้า น้ำทะเลจะขึ้นอีก 10 เซนติเมตร 30 ปีขึ้นอีก 40-50 เซนติเมตรและ 80 ปีข้างหน้า น้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นถึง 1.50 เมตร

“การสูงขึ้นของน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพมีความเปราะบางสูงมาก งานวิจัยทั่วโลกบ่งชี้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่เปราะบางสูงมากจากการจมน้ำทะเล”

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

IPCC มีการจำลองเหตุการณ์ว่า อนาคตข้างหน้าถ้ากรุงเทพจะจมน้ำทั้งหมดใช้เวลา 100 ปี จุดที่จะจมบางส่วนก่อน คือ แถวๆ บางขุนเทียน สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม เพราะน้ำทะเลหนุนสูงเป็นการสูงอย่างถาวรไม่มีการลด เมื่อเจอกับฝนตกหนักน้ำเหนือหลาก เหตุการณ์เมื่อปี 2554 จะกลับมาแต่หนักและรุนแรงมากขึ้น

ปี 2030 จะเห็นน้ำทะเลสูง น้ำเหนือหลาก ปี 2100 กรุงเทพ จมน้ำทั้งหมด จากการที่น้ำเหนือและน้ำหนุนมาประสานกัน กรุงเทพต้องเตรียมรับกับสถานการณ์ ในอนาคตข้างหน้า ถ้ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ป้องกันชายฝั่ง “จมแน่นอน” อาจารย์เสรีกล่าว

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

ฝนตกหนักขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำเค็มรุกพื้นที่ชั้นใน

คุณชวลิต จันทรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ระดับน้ำทะเล กำลังเพิ่มสูงขึ้น จากโลกร้อนที่ทำให้ธารน้ำแข็ง และ หิมะละลายจนไปเพิ่มปริมาณน้ำในทะเล 

“ฝนจะตกบ่อยขึ้น 1.5 เท่า ปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นถึง 10% นี่เป็นสัญญาณว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน”

คุณชวลิต บอกว่า จนถึงปี 2050 หรือ ปีพ.ศ.2593 ระดับน้ำทะเลของโลกจะสูงขึ้น เฉพาะที่ไทยระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 60-75 เซนติเมตร น้ำจะสูงจนสามารถท่วมคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

ผลพวงของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยังหมายความว่า น้ำเค็มจะรุกล้ำพื้นที่ชั้นในมากขึ้น ผลการศึกษาของทีมกรุ๊ปเกี่ยวกับผลกระทบของภูมิอากาศ ต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำเค็มจะรุกคืบจากปากอ่าวผ่านกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดต่างๆ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี จนถึงสุพรรณบุรี ฝั่งตะวันออกฉะเชิงเทราก็จะถูกน้ำทะเลบุกรุกเช่นกัน นั่นหมายความว่า พื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นดินเค็ม และ น้ำจืดจะถูกแทนที่ด้วยน้ำเค็มเช่นกัน 

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

เมื่อเมืองเสี่ยงจมน้ำ ควรแก้ยังไง?

เมื่อเราทราบดีว่า กรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำ เวลาที่เหลืออีก 26 ปีข้างหน้า เราควรจะตั้งรับอย่างไร แนวคันกั้นน้ำที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ?

คำตอบจากคุณเชาวลิต  คือ ต้องเริ่มทำแนวคันกั้นน้ำใหม่ ให้มีความสูงเพียงพอ และ ต้องบริหารจัดการแบบกึ่งอัตโนมัติ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐในการทำงานแบบบูรณาการ สอดประสานกันเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างไร้รอยต่อ ในภาวะที่ต้องสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อากาศแปรปรวน ในภาวะที่ไทยกำลังเข้าสู่ ลานีญา อย่าลืมว่าฝนจะหนาแน่นขึ้น

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

โมเดล เนเธอร์แลนด์แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ ทีมกรุ๊ปเสนอ ให้ใช้โมเดลการต่อสู้กับน้ำท่วมสำเร็จของเนเธอร์แลนด์ แม้ว่า จะใช้เวลาถึง 20 ปีเต็ม โดยใช้วิธีการสร้างกระเปาะที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ กั้นไม่ให้น้ำทะเลเข้า และ มีประตูระบายน้ำที่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเล เมื่อระดับน้ำในเมืองสูงขึ้น

ขณะเดียวกันแนะนำให้สร้างคันกั้นน้ำ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วย นอกจากเนเธอร์แลนด์แล้ว อินเดีย และ รัสเซีย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างปราการป้องกันน้ำทะเลบุก และ รักษาชายฝั่งแม่น้ำไม่ให้ถูกกัดเซาะ จนชายฝั่งหายไป และ แผ่นดินต้องร่นไปเรื่อยๆ

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

ย้ายเมืองหลวง คือ ทางออก?

สำหรับการย้ายเมืองหลวง ในมุมมองของอาจารย์เสรี มองว่า จาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย มีลักษณะคล้ายกับไทย คือ น้ำทะเลหนุนสูง จึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมืองนูซันตารา แต่แผ่นดินอินโดนีเซียทรุดตัวมากกว่าไทยถึง 10 เท่าจึงเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เขาพิจารณาย้ายเมืองหลวง

มองย้อนกลับมาที่ไทย การย้ายเมืองหลวงของเราเป็นไปได้ยาก เพราะเราลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานค่อนข้างมากแล้ว

“ไม่เห็นด้วยกับการย้ายเมืองหลวงของประเทศ แต่อยากสื่อสารไปยังรัฐบาลให้เริ่มคิดได้แล้วเพราะ 6 ปี น้ำเริ่มสูง 30 ปี บางขุนเทียนจะหายไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ คือ การรับมือน้ำท่วมเมืองหลวง เพราะตัดสินใจ ณ เวลานี้ไม่ได้หมายความว่าทำได้เลยถ้าตัดสินใจช้าอีก 30 ปีก็จะสายไปเสียแล้ว”

ชวลิต จันทรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย

มาตรการที่เสนอไปมี 4 มาตรการ

  1. ไม่ทำอะไร น้ำท่วมก็ปล่อยให้ท่วมไป
  2. ยกคันดิน หรือ ยกถนนริมทะเลทั้งหมดสูงขึ้นไป 1 เมตรเพื่อป้องกันน้ำทะเล
  3. สร้างคันดินกันชนสีเขียว คือ ปลูกป่าชายเลนขนาดใหญ่ริมทะเล โดยการเวนคืนที่ดิน
  4. สร้างคันป้องกันปากอ่าวจากพัทยาไปสู่ชะอำ ริมทะเล

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

เสนอสร้างเมืองคู่แฝด กระจายความแออัด

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ อีกหนึ่งท่าน คือ คุณชวลิต จากทีมกรุ๊ป เสนอให้สร้าง “เมืองคู่แฝด” รองรับความเจริญ จากก่อนหน้านี้เคยมีการพูดถึง จ.นครนายก ว่าเหมาะจะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่คุณชวลิต มองไปที่เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยความที่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตัดผ่าน อยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยา และอยู่ในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงเหมาะที่จะกระจายความเจริญเพื่อแก้ปัญหาเมือง

เมืองคู่แฝดในที่นี้ จะทำหน้าที่กระจายผู้คน กระจายความเจริญออกสู่เมืองคู่ขนาน เพื่อแก้ปัญหาความแออัด ลดปัญหาจราจร และ ลดมลพิษ ในอนาคต

น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า

related