svasdssvasds

“ประตูสู่นรก” แห่งไซบีเรีย กำลังขยายตัวเพราะ Climate Change คือยังไงกันแน่?

“ประตูสู่นรก” แห่งไซบีเรีย กำลังขยายตัวเพราะ Climate Change คือยังไงกันแน่?

สปริงนิวส์ ชวนรู้จัก “ประตูสู่นรก” หรือ "Gateway to Hell" ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย หลุมที่ว่ากันว่าเป็นทางเชื่อมไปสู่ยมโลก ความจริงเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้

SHORT CUT

  • ปล่องบาตากาอิกา (Batagaika) แต่คนมักจะจดจำปล่องหลุมอันน่าพิศวงแห่งนี้ในชื่อ “Gateway to Hell” หรือ “ประตูสู่นรก”
  • ประตูสู่นรกแห่งไซบีเรียกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะเดียวกันดินส่วนใหญ่ที่เป็นดินแช่แข็งก็กำลังหลอมละลายอย่างรวดเร็ว
  • ประตูสู่นรกแห่งไซบีเรีย ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม นักท่องเที่ยวปักหมุดสถานที่นี้เพื่อเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่ต้องตามไปถ่ายรูปเมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนไซบีเรีย

สปริงนิวส์ ชวนรู้จัก “ประตูสู่นรก” หรือ "Gateway to Hell" ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย หลุมที่ว่ากันว่าเป็นทางเชื่อมไปสู่ยมโลก ความจริงเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้

หลุมที่ทุกคนเห็นนี้ตั้งอยู่บนที่ราบสูง Yana ภูมิภาคไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย มีความกว้าง 200 เอเคอร์ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 – 4 ปีก่อน มีข่าวทำนองที่ว่ามีคนได้ยินเสียงลึกลับออกมาจากรูแห่งนี้

ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ปล่องบาตากาอิกา (Batagaika) แต่คนมักจะจดจำปล่องหลุมอันน่าพิศวงแห่งนี้ในชื่อ “Gateway to Hell” หรือ “ประตูสู่นรก” กันมากกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ามีคนอ้างว่าได้ยินเสียงลึกลับลอยออกมาจากหลุมแห่งนี้ แม้ในภายหลังผู้เชี่ยวชาญจะออกมาแย้งว่าน่าจะเป็นแค่เสียงดินตกหล่นเท่านั้น แต่คนก็จดจำว่านี่คือประตูสู่ยมโลกไปเรียบร้อย

Gateway to Hell เครดิตภาพ Reuters

สำหรับปีนี้ เวียนกลับมาให้พูดถึงอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ Daily Mail รายงานว่า ประตูสู่นรกแห่งไซบีเรียกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะเดียวกันดินส่วนใหญ่ที่เป็นดินแช่แข็งก็กำลังหลอมละลายอย่างรวดเร็ว

เท่านั้นยังไม่พอ ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาค้นพบว่าประตูนรกแห่งไซบีเรียได้ปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนมากถึง 4,000 – 5,000 ตันต่อปี และคาดว่าหากหลุมแห่งนี้ขยายเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่อัดแน่นอยู่ภายในน่าจะถูกปล่อยออกมามากกว่านี้

โลกร้อนกระทบสิ่งแวดล้อม ประตูนรกยังไม่รอด เครดิตภาพ Reuters

คำถามคือพวกเขารู้ได้อย่างไร ทีมงานนักวิจัยเปิดเผยกับ Daily Mail ว่าพวกเขาใช้แบบจำลอง 3 มิติ ร่วมกับข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลจากโดรน และนำมาพิจารณาไปพร้อมกับตัวอย่างดินที่ถูกเก็บมาตั้งแต่ปี 2562 – 2566

ผลลัพธ์แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างธรณีวิทยาของหลุมแห่งนี้ วัสดุด้านในมีอะไรบ้าง ปล่อยอะไรออกมาบ้าง แล้วสิ่งที่ปล่อยออกมานั้นสุดท้ายแล้วไปจบที่ใด เช่น แม่น้ำหรือชั้นบรรยากาศ วิธีนี้ทำให้พวกเขาสามารถตรวจเจอก๊าซเรือนกระจกได้

“การรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกของประตูนรกแห่งนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในละแวกไปตลอดกาล แหล่งที่อยู่อาศัย แม่น้ำ หรือชั้นบรรยากาศจะได้รับผลกระทบทั้งหมด” Nikita Tananaev นักวิจัยจากสถาบัน Melnikov Permafrost

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของผลพวงจากสถานการณ์โลกเดือด ที่กำลังค่อย ๆ กัดกินสิ่งแวดล้อมบนโลก ไม่ว่าจะสวยงามแปลกตาเพียงใด แต่หากเงื่อนไขด้านสภาพอากาศไม่เป็นเหมือนที่เคยแล้วมา อ้อนวอนไปคงไม่ช่วยอะไร นอกจากจะเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง

อย่างไรก็ดี ประตูสู่นรกแห่งไซบีเรีย ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม นักท่องเที่ยวปักหมุดสถานที่นี้เพื่อเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่ต้องตามไปถ่ายรูปเมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนไซบีเรีย

 

ที่มา: Daily Mail

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related