svasdssvasds

น้ำเพื่อสันติภาพ? ทำไงให้หน้าแล้ง คนไม่แย่งกันใช้น้ำ ท่ามกลางโลกเดือด

น้ำเพื่อสันติภาพ? ทำไงให้หน้าแล้ง คนไม่แย่งกันใช้น้ำ ท่ามกลางโลกเดือด

วิธีลดความขัดแย้ง เมื่อเราต้องใช้แม่น้ำร่วมกัน ทำยังไงให้หน้าแล้ง คนไม่แย่งกันใช้น้ำ ท่ามกลางโลกเดือด กับบทบาทไทยต่อเวที World Water Forum 2024

SHORT CUT

  • ทั่วโลก มีแม่น้ำสากลที่หลายประเทศใช้ร่วมกันอยู่หลากหลายแหล่ง แต่เมื่อภัยแล้งหรือวิกฤตมา ผู้ใช้น้ำร่วมกันจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไรให้ไม่เกิดความขัดแย้ง
  • งาน World Water Forum 2024 ที่จัดขึ้น ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวด้วย
  • แอมะซอน เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ถูกยก ซึ่งมองว่าแก้ได้ด้วยการจับเข่าคุยกันทุกฝ่าย และให้คนทุกระดับเข้าถึงการพูดคุยได้อย่างอิสระ

วิธีลดความขัดแย้ง เมื่อเราต้องใช้แม่น้ำร่วมกัน ทำยังไงให้หน้าแล้ง คนไม่แย่งกันใช้น้ำ ท่ามกลางโลกเดือด กับบทบาทไทยต่อเวที World Water Forum 2024

หลายประเทศมีความต้องการในการพึ่งพาสายน้ำเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน ความต้องการน้ำก็ยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น แต่หากหลายประเทศพึ่งพาสายน้ำแห่งเดียวกัน ทำอย่างไรให้การใช้น้ำของแต่ละฝ่ายเท่าเทียม เป็นธรรมและยั่งยืน

ในการประชุม World Water Forum 2024 ที่จัดขึ้น ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หลายประเทศได้เข้ามาถกเถียง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศของตนได้เผชิญหน้ากับวิกฤตน้ำและวิกฤตสภาพอากาศหลากหลายรูปแบบ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา

น้ำเพื่อสันติภาพ? ทำไงให้หน้าแล้ง คนไม่แย่งกันใช้น้ำ ท่ามกลางโลกเดือด

ปัญหาการใช้น้ำร่วมกันของแอมะซอนท่ามกลางวิกฤตโลกเดือด

ดร.ซูซาน ชไมเออร์ (Susanne Schmeier) หัวหน้าแผนกธรรมาภิบาลน้ำและรองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายน้ำและการทูตจาก IHE Delft กล่าวว่า หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องการใช้แม่น้ำสายสากล (International River) ร่วมกัน คือแอมะซอน ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แม่น้ำแอมะซอนได้พาดผ่านหลายประเทศของอเมริกาใต้ อาทิ เปรู อาร์เจนตินา ปารากวัย เอกวาดอร์ โคลอมเบีย เวเนซุเอลา บราซิล โบลิเวีย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีจุดประสงค์การใช้น้ำจากแอมะซอนแตกต่างกัน ทั้งเพื่ออุปโภค บริโภค และที่สำคัญเพื่อการเกษตร พลังงาน และการคมนาคม

แม่น้ำแอมะซอน

อนึ่ง ประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้มักเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางเรือที่หลากหลายส่งไปยังประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น การคมนาคมทางเรือผ่านแม่น้ำแอมะซอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติสภาพอากาศจนส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ สิ่งที่ตามมาคือการมองหาวิธีแก้ แต่ใครบ้างต้องแก้?

และอีกคำถามที่ตามมาคือ ต้องใช้น้ำเท่าไหร่จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้คนริมน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานและความขัดแย้งกับกลุ่มนายทุน ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย

ภัยแล้ง แม่น้ำแอมะซอน 2024 Cr.Reuters

ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมระยะยาว หากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ที่ดินของชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้มักถูกเช่า ซึ่งสามารถสร้างรายได้ก้อนโตให้กับพวกเขา แต่ที่ดินเหล่านั้นถูกเช่าไปเพื่อปลูกถั่วเหลือง และแน่นอนมันมีการตัดไม้ขยายพื้นที่เพิ่ม ส่งผลให้ความปลอดภัยของแหล่งน้ำในพื้นที่มีความเสี่ยง

ดร.ซูซานมองว่า การแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ต้องมีการหารือและทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ในสิ่งที่อาจเกิดขึ้น มิใช่แค่ผลลัพธ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในอนาคต ดังนั้น ภาคประชาสัมคม ภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ถือหุ้นต่าง ๆ ต้องมาทำข้อตกลงที่เป็นธรรมร่วมกัน และทุกคนไม่ว่าจะมาจากภาคส่วนใดต้องสามารถมีส่วนร่วมได้

ย้อนมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลุ่มน้ำโขงมีปัญหาหรือไม่?

ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายการบริหารจัดการน้ำและนักวิจัยอาวุโส คนไทยผู้เข้าร่วมงาน World Water Forum 2024 ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า ประเด็นเรื่องแม่น้ำโขงมันไม่ใช่เรื่องระดับประเทศ แต่มันเป็นเรื่องระดับภูมิภาค และกำลังกลายเป็นเรื่องระดับโลกแล้ว

ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายการบริหารจัดการน้ำและนักวิจัยอาวุโส

ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดจากประเด็นการใช้แม่น้ำร่วมกัน คือความแตกต่างระหว่างภูมิภาค ตัวอย่างหนึ่งที่ได้ฟังคือ การใช้น้ำในแอฟริกา ประชาชนของแอฟริกาอยากมีส่วนร่วม แต่ก็ต่อเมื่อเขามีน้ำให้ใช้ ปัจจุบันแอฟริกาขาดแคลนน้ำ เมื่อไร้น้ำจึงยังมองไม่ออกว่าจะเอาน้ำไปทำอะไร ตรงไหน เท่าไหร่บ้าง และจะส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต่างจากบริบทของเราคือเรามีน้ำอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นอีกระดับหนึ่งของความต้องการ

การจัดการน้ำของไทย

ของเราหลาย ๆ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำไทย ได้น้ำมาแต่มันไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ได้มาแล้วมันไปทําให้เกิดผลกระทบใช่ไหม มันก็เป็นคําถามที่ย้อนกลับไปถึงการพัฒนาแบบยั่งยืน ว่าเอ๊ะทําไมคุณไม่ให้โอกาสประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ให้ไปแชร์ความคิดเห็นหรือให้ไปช่วยกันหาแนวทางแก้ไขด้วยกันอะไรอย่างนี้ครับ

นอกจากนี้พอเรามีน้ำแล้วจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ในขณะที่เราก็นำทรัพยากรนี้มาใช้อยู่ตลอดเวลา ผมมองว่าเป้าหมายของไทยก็ค่อนข้างชัดเจนมากตั้งแต่มีสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในประเทศไทยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับน้ำถึง 40 หน่วยงาน ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ประสานงานกันมันก็ไม่ยั่งยืน เพราะจะต่างคนต่างทำ แต่ก็ยอมรับว่าตอนนี้มันยังไม่สมบูรณ์แบบหรอกครับ

น้ำเพื่อสันติภาพ? ทำไงให้หน้าแล้ง คนไม่แย่งกันใช้น้ำ ท่ามกลางโลกเดือด

และตอนนี้เราก็มีพ.ร.บ.น้ำเข้ามารองรับ ซึ่งจะมาช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะทำยังไงบ้างนั้น เรายังคงต้องศึกษาต่อไปว่าจะทำยังไงให้คนทุกระดับเข้าถึงได้ และก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในแต่ละพื้นที่มันมีบริบทที่ต่างกัน จะเอาการจัดการน้ำของชีและมูน ไปใช้กับ ปิง วัง ยม น่าน ก็ไม่น่าได้

และที่สำคัญคือ เราจะต้องไม่มองแค่เรื่องของวิศวกรรมอย่างเดียว มันต้องมีเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเข้าไปร่วมคุยตั้งแต่แรกด้วย เพราะในการบริหารจัดการที่ผ่านมา เรามักเอาสังคมเศรษฐกิจนำ ซึ่งมันก็จะออกมาเป็นคอนกรีต เป็นวิศวะหมด มีแต่ตึก เขื่อน ฝาย ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้คำว่าเกือบจะอิ่มตัวแล้วก็ได้ครับ มันถึงเวลาที่ต้องมาคิดใหม่หรือดูในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของเราทุกคน

related