svasdssvasds

เมื่อกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ! รัฐบาล (อาจ) พิจารณาย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น

เมื่อกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ! รัฐบาล (อาจ) พิจารณาย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น

ในยุคที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เมืองชายฝั่งอย่าง "กรุงเทพมหานคร" กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย เปิดเผยว่า อาจมีการพิจารณาย้ายเมืองหลวงใหม่เร็ว ๆ นี้

กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางมากไปหรือเปล่า?

ตลอดหลายปีมานี้ สังคมตั้งคำถามว่าเหตุใดความเจริญ หน้าที่การงาน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง (ที่ดี) หรือโอกาสในชีวิตต่าง ๆ ถึงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่เดียว ทำไมจังหวัดอื่น ๆ ถึงไม่ได้รับสิทธินั้นบ้าง “กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางมากเกินไปหรือเปล่า”

อย่างไรก็ดี มหานครแห่งนี้ก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์ไปเสียทุกเรื่อง เขตเมืองส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นที่ราบต่ำ ดังนั้น เมื่อฝนตกหนักทีไร กทม.กลายเป็นทะเลย่อม ๆ ในทันที และด้วยเหตุนี้เอง กทม. จึงเป็นหนึ่งในเมืองที่ถูกคาดการณ์ว่าจะจมบาดาลในเร็ววันนี้ ไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ! รัฐบาล (อาจ) พิจารณาย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น

เมื่อกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ! รัฐบาล (อาจ) พิจารณาย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น

เคราะห์ซ้ำ กรรมตามซัดต่อ! ทราบกันดีว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นก็ไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกอันไกลโพ้น แต่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งมาเล่นงานถึงเมืองริมชายฝั่งทางนี้

ล่าสุด ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย ได้กล่าวกับสำนักข่าว AFP ถึงกรณีการย้ายเมืองหลวงหนีน้ำเอาไว้ดังนี้

“กรุงเทพฯ อาจไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันได้ ผมคิดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกของเราเกิน 1.5 องศาฯ ไปแล้ว” ปวิช กล่าวกับสำนักข่าว AFP

“ตอนนี้เราต้องกลับมาคิดถึงการปรับตัว ผมคิดว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำแน่นอน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่”

กรณีศึกษา: อินโดนีเซียประกาศย้ายเมืองหลวงใหม่

กรณีของประเทศอินโดนีเซีย ที่จ่อเปิดตัว “นูซันตารา” เมืองหลวงแห่งใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางการเมืองในปีนี้ แทนที่เมืองหลวงปัจจุบันอย่าง “กรุงจากาตาร์” ซึ่งตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นั่นคือเฟื่องไปด้วยมลพิษและกำลังจมน้ำ

ภาพจำลอง "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่ของอินโดฯ Credit ภาพ Nusantara capital city authority

ในปี 2565 อินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเปิดทางย้ายเมืองหลวง อินโดฯ ถือเป็นชาติแรกในแถบภูมิภาคนี้ที่มีการสั่งย้ายเมืองหลวงผ่านกฎหมายของประเทศ

แต่ก็ไม่วายโดนครหาว่าไม่ศึกษาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้ดี ไม่รู้หรือไงว่าต้องมีการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เจ้าอุรังอุตังอาจไม่มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป

นอกเหนือจากข้อถกเถียงเรื่องสถานที่และสภาพแวดล้อมแล้ว ประเด็นเรื่อง “งบประมาณ” ที่ใช้ก็ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอย่างออกรส คาดการณ์ว่าการย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้ของอินโดฯ ใช้งบประมาณทั้งหมด 32,000 – 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.16 – 1.26 แสนล้านบาท

กลับมาที่กรุงเทพฯ ปวิช เผยว่า “กรุงเทพฯ กำลังสำรวจมาตรการต่างๆ เช่นการสร้างเขื่อน คล้าย ๆ กับที่ใช้ในเนเธอร์แลนด์ เราก็มีความคิดที่จะย้าย ซึ่งผมคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี”

“เราจะได้แยกเมืองหลวง พื้นที่ราชการ และพื้นที่ธุรกิจได้ กรุงเทพฯ จะยังคงเป็นเมืองหลวงของประเทศต่อไป แต่จะย้ายแค่เฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น”

กรุงเทพฯ จะยังคงเป็นเมืองหลวงต่อไป

วอนทุกคนช่วยกันปราบผีที่ชื่อว่า “Climate Change”

“เราต้องรักษาธรรมชาติของเรา ดังนั้นเราจึงคิดว่าเราจะใช้มาตรการใดๆ เพื่อปกป้องทรัพยากรของเรา” ปวิช กล่าว

ตั้งแต่เริ่มปี 2024 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเล่นงานคนไทยไปยังไงแล้วบ้าง คลื่นความร้อนรุนแรง เอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตร ทะเลเดือดจนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทำให้อุทยานแห่งชาติหลายแห่งต้องสั่งปิด กระทบไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

สำหรับการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ปวิช เผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็กำลังผลักดันกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศไทย

ซึ่งหากกฎหมายโลกร้อนผ่านกระบวนทางรัฐสภาเรียบร้อย กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีอีกหลายหมวดที่จะช่วยเข้าไปยับยั้ง ดูแลในภาคส่วนต่าง ๆ ก่อนที่สถานการณ์การปล่อยมลพิษของไทยจะสูงไปมากกว่านี้

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เราอาจมีเมืองหลวงใหม่ที่ชื่อว่า “นครปฐม ราชบุรี เชียงใหม่ ยะลา” ก็เป็นได้ 

 

ที่มา: CNA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related