SHORT CUT
“การลดก๊าซเรือนกระจก เราทำวันนี้ ไม่ได้วันพรุ่งนี้ แต่เราทำวันนี้เพื่ออีก 20-30 ปีข้างหน้า" ผอ.ศิวัช ชี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของประชาชนและภาคเอกชน เพื่อเป้าหมาย Net Zero
ศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในเวทีสัมมนา Innovation Keeping the World 2024 ว่า เป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในระดับโลก ทั้ง Cop26 และ Cop28 คือสิ่งที่ทุกประเทศจะต้องนำมาพิจารณาให้ตรงกับบริบทด้วย ว่าจะกระทบต่อภาคเอกชนและภาคประชาชนมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนร่วมกันไปกับภาครัฐ ซึ่งในตอนนี้ต้องยอมรับว่าเรามีเทคโนโลยีการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบทั้งหมดแล้ว แต่จะนำมาใช้ต้องพิจารณาว่าจะเหมาะสมกับประเทศเราหรือไม่
ศิวัช ยกตัวอย่าง ราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อ 5 ปีที่แล้วคงไม่มีใครซื้อเพราะราคาสูงมาก แต่ตอนนี้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงมาจนคนสามารถซื้อหากันได้แล้ว หรือในเทคโนโลยี Blue Hydrogen ที่เริ่มมีการลงทุนมากขึ้น แต่ถ้าจะไปถึง Green Hydrogen เลยก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่มากอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) จึงจำเป็นต้องค่อยๆทำ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเอกชนและประชาชนน้อยที่สุด
ดังนั้นในช่วงปี 2050 จึงเป็นกำหนดเวลาของทั่วโลกที่จะไปถึง Net Zero แต่ในประเทศไทยกำหนดไว้ในปี 2065 เพราะเราหวังได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นนอกจากการเร่งแล้วเราต้องการการสนับสนุนเพื่อให้ภาคเอกชนมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ด้วย
ศิวัช กล่าวว่า ในปี 2021-2030 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 5 อุตสาหกรรมได้แก่ พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย และเกษตร เรามีแผนที่ต้องขับเคลื่อนให้ได้ใน 10 ปีนี้ โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว และรอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศในบางส่วนเพื่อลดภาระของภาคเอกชน
โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่มาปรับใช้แล้ว เช่น Heat Battery ที่จะช่วยนำความร้อนมาผลิตพลังงานนอกจากการใช้แสงจากโซลาร์เซลล์, โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย, การดักจับคาร์บอนจากอากาศและผลผลิตทางการเกษตร, Hydraulic Cement เป็นปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน, การปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย, การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากรถเมล์ EV เป็นต้น
“การลดก๊าซ เราทำวันนี้ ไม่ได้วันพรุ่งนี้ แต่เราทำวันนี้เพื่ออีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กันไป เช่น น้ำท่วม ที่ต้องเตรียมแผนรองรับเอาไว้ก่อนจะเกิดวิกฤต“ ผอ.กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา เช่น ไม่เปิดแอร์หนาวเกินไป ลดการใช้พลาสติก ภาคเอกชนต้องรู้ตัวเองปล่อยเท่าไรและวางแผนลดให้ได้ ส่วนภาครัฐพร้อมสนับสนุนเพื่อสร้างความตระหนักนำไปสู่การลดคาร์บอนในที่สุด