SHORT CUT
โลกไม่ได้แค่ร้อนขึ้น แต่โลกเดือดขึ้น ! ภาครัฐและเอกชน แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด อธ. กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ย้ำ ‘ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ถึงจะอยู่รอด’
วันนี้ (29 พ.ค. 67) เครือเนชั่น นำโดย SPRINGNEWS จัดเวทีเสวนา Innovation Keeping the World ที่ SCBX NEXT STAGE @ NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน เพื่อ "คนรักษ์โลก" มาร่วมพูดคุยสร้างคอมมูนิตี้สายกรีนให้โลกเราแข็งแรง สู้ภาวะโลกเดือด ร่วมขับเคลื่อน Climate Tech สู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน
ในช่วงต้น ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิกฤตทะเลเดือด โลกจะอยู่อย่างไร?” เพื่อย้ำว่าปัจจุบันนี้ เราไม่ได้กำลังเผชิญปัญหาโลกร้อน แต่กำลังเผชิญปัญหาโรคเดือด! ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ มากกว่าเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และทำให้ทั้งมนุษย์และสัตว์ปรับตัวยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้ฉายภาพปัญหาโลกเดือดว่า ตอนนี้รุนแรงมากแค่ไหนแล้ว
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวว่า วันนี้เราไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติ เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะปัญหามันร้ายแรงกว่าในอดีตมาก และเราก็ไม่ได้ตื่นตูมไปกันเอง เพราะแม้แต่ “อันโตนิอู กุแตเรซ (António Guterres) ” เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ประกาศเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันแก้ปัญหา และกำหนดให้เรื่องโลกร้อนเป็นภาวะฉุกเฉิน
หากถามว่ามันเดือดอย่างไร ก็ต้องบอกว่า ปี 2024 เป็นปีแรก ที่ฝนตกเยอะสุด ขณะที่หน้าแล้งก็แล้งสุด ซึ่งบางคนมองว่า เป็นวัฏจักรของโลกที่เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน ซึ่งอาจจริงแค่ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องบอกว่าการกระทำของมนุษย์คือสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงจนผิดธรรมชาติ
เมือโลกร้อนขึ้น จึงมีปะการังฟอกขาว ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิสูงที่สูงเกินกว่าเขาจะรับได้ ซึ่งไทยก็เคยเจอมาหลายครั้ง แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ หญ้าทะเลก็ตายด้วย ซึ่งไม่ได้ตายแค่ 100 ไร่ แต่ตายหลัก 10,000 ไร่ เพราะโลกมันรวน น้ำจึงลงต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ พอร้อนขึ้น เต่าทะเลเพศผู้ก็เกิดน้อย มีแต่เต่าเพศเมียที่เกิดมาก การผสมพันธุ์ก็ไม่เกิด
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พอหญ้าทะเลตายมาก ๆ ก็กระทบวิถีชีวิตของพะยูนด้วย ในประเทศไทยมีพะยูนทั้งหมด 280 ตัว อยู่ที่เกาะลิบง เกาะมุก จังหวัดตรัง แล้ว 220 ตัว แต่พอหญ้าทะเลในพื้นที่นี้ตาย เขาก็ต้องว่ายขึ้นไปที่กระบี่ ขึ้นไปที่พังงา พอเขาไปอยู่ที่ใหม่ ก็ไม่มีความคุ้นชิน แถมคนในพื้นที่ก็ไม่ชินด้วย ซึ่งสิ่งที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ คือพะยูน 4 ตัวตาย ภายในอาทิตย์เดียว มีทั้งตัวที่ ติดอวนตาย โดนเรือสปีดโบ๊ทชนตาย และก็โดนสัตว์เจ้าถิ่นฆ่าตาย ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น
เรื่องโลกร้อนไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น แต่กระทบมาถึงชีวิตมนุษย์ด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ หากมีปะการังฟอกขาวมากๆ ก็ต้องปิดเพื่อให้เขาพัก ซึ่งกระทบการท่องเที่ยว และเมื่อกระแสน้ำแปรปรวนก็มีการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น ก็กระทบต่อชีวิตของคนที่อยู่ชายฝั่งด้วย
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า ทางภาครัฐและภาคเอกชน จึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างมีระบบมากขึ้น ซึ่งเราต้องคิดล่วงหน้า คิดเป็นแผนงาน ปีนี้เราก็มีแผนการแก้ปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาว โดยเราเตรียมตัวมาเป็นปี ช่วงมกราคมเริ่มสร้างเครือข่าย กุมภาพันธ์-มีนาคมเริ่มระบบการติดตามตัวอุณหภูมิน้ำ ซึ่งเราติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าสถานการณ์รุนแรง ต้องมีมาตรการช่วยอย่างเหมาะสม และหลังจากนี้เราต้องมีการพยายามฟื้นฟูต่อไป เรื่องจะไม่มีวันสำเร็จ ถ้าเราไม่เตรียมการล่วงหน้า
ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนจากสังคมเยอะว่าจะช่วยได้จริงไหม แต่เราถือว่ากล้าทำ กล้าช่วย ถ้าเราช่วยได้ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว สิ่งสำคัญคือเราไม่สามารถไปเปลี่ยนปัจจุบันได้ ยังไงปัญหาเกิดขึ้นแน่ แต่ มนุษย์ฉลากพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาแก้ปัญหาได้เสมอ แต่ทุกคนต้องตระหนักว่า โลกร้อนเป็นปัญหาทุกคน และเราต้องร่วมใจช่วยกันโดยไม่ต้องรอใคร
เราต้องไม่มองว่าสิ่งแวดล้อมอยู่นอกตัวเรา แต่เราคือส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมคือสิ่งมีชีวิตที่เจ็บป่วยได้ ตายเป็น เข้มแข็งได้ ก็อ่อนแอเป็น อย่าไปท้อแท้ว่าการช่วยเล็ก ๆ น้อยๆ ไม่มีประโยชน์ เพราะการช่วยกันอย่างละนิด จะทำให้ทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้นเอง
สุดท้ายเราทุกคนสามารถช่วยเรื่องโลกร้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดการทิ้งขยะ ลดการปล่อยน้ำเสียง หรือช่วยในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้โลกดีขึ้น และต่อให้เราจะช่วยโดยตรงไม่ได้ เราก็ยังมีกลุ่มอนุรักษ์ ที่กระจายอยู่ทุกแห่ง ซึ่งเราสามารถสนับสนุนพวกเขาได้ในหลายรูปแบบ
“ผมยังเชื่อว่ามนุษย์เก่งและฉลาดพอ ที่จะฝ่าฟันปัญหาโลกเดือดไปได้ และพอเราไปถึง Carbon Neutrality ที่เป็นเป้าหมายระยะยาวได้เมื่อไหร่ วันนั้นลูกหลานเราก็จะอยู่อย่างสบาย สงบ มีความมั่นคงมากกว่าที่เราเจออยู่ทุกวันนี้แน่นอน” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง