svasdssvasds

ทำไมถึงยังมีคนจำนวนมาก ที่ไม่เชื่อว่า “โลกร้อน” เป็นเรื่องจริง?

ทำไมถึงยังมีคนจำนวนมาก ที่ไม่เชื่อว่า “โลกร้อน” เป็นเรื่องจริง?

เพราะอะไรคนจำนวนมาก ที่ไม่เชื่อว่า “โลกร้อน” เป็นเรื่องจริง? และยังใช้ชีวิตแบบไม่รู้ร้อน รู้หนาว ไม่ปรับตัวตามโลกแม้แต่น้อย

SHORT CUT

  • มีคนที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อน เนื่องจากพื้นที่ของตนเองยังหนาวเย็นอยู่ 
  • กลุ่มที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนพรรคเดโมแครตเชื่อเรื่องโลกร้อนมากกว่า
  • บางคนเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์ ต้องการหาทางลัดให้ตนเองประสบความสำเร็จ ดังนั้นผลวิจัยของพวกเขาจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

เพราะอะไรคนจำนวนมาก ที่ไม่เชื่อว่า “โลกร้อน” เป็นเรื่องจริง? และยังใช้ชีวิตแบบไม่รู้ร้อน รู้หนาว ไม่ปรับตัวตามโลกแม้แต่น้อย

ช่วงหลายปีมานี้ ปัญหา “ภาวะโลกร้อน (Global Warming)” รุนแรง จนทำให้อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งหนาวจัด และร้อนจัด รวมถึงภัยแล้งที่รุนแรง คลื่นความร้อน และพายุเฮอริเคน ที่เกิดบ่อยขึ้น

ปัญหาที่รุนแรงขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องรับผิดชอบร่วมหัน ทว่าที่น่าแปลกคือ แม้เราจะเข้าสู่ปี 2024 แล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เชื่อ ว่าโลก ร้อนเป็นเรื่องจริงอยู่ดี ซึ่งน่าตกใจว่าคนเหล่านี้อยู่ในประเทศมหาอำนาจด้วย

หรือโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องจริง ? อ้างอิงจาก การสำรวจในปี 2021 ของ The Economist/YouGov พบว่าคนอเมริกันเกือบ 10% ไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้น และ 1 ใน 4 ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ เลยไม่ต้องใส่ใจก็ได้

นอกจากนี้ในปี 2020 YouGov ทำการสำรวจประชาชน 26,000 จาก 25 ประเทศ พบว่า 8 ประเทศที่ประชาชนไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ได้แก่อินโดนีเซียมีคนไม่เชื่อ 21 % , สหรัฐอเมริกามีคนไม่เชื่อ 21 % ,ซาอุดีอาระเบีย มีคนไม่เชื่อ 18% ,อียิปต์ มีคนไม่เชื่อ 18% ,อินเดีย มีคนไม่เชื่อ 16 % ,เม็กซิโกมีคนไม่เชื่อ 16 % , ไทยมีคนไม่เชื่อ 15 % และ ออสเตรเลียมีคนไม่เชื่อ 14 %

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาดูเหตุผลคร่าวๆ กัน

คนระดับโลก ก็ไม่เชื่อ

น่าตกใจ เพราะผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน ไม่ได้มีแค่คนทั่วไปที่ขาดความรู้ แต่คนดังระดับโลก ก็ไม่เชื่อเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2020 สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น กลับออกมาประกาศว่า ไฟป่าเกิดจากการบริหารจัดการที่แย่ ไม่ได้เกิดจากโลกร้อน พร้อมทั้งบอกว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้รู้เรื่องโลกร้อนนี้จริง และก่อนหน้านี้ในปี 2017 ทรัมป์ก็ได้สั่งให้สหรัฐถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ” ซึ่งเป็นกรอบอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยให้เหตุผลว่า การรณรงค์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องโกหกที่ศัตรูของสหรัฐสร้างขึ้นเพื่อ ทำลายอุตสาหกรรมของสหรัฐ

ถึงความคิดของ ทรัมป์ จะดูขวานผ่าซาก แต่ก็มีคนจำนวนมากเชื่อเขา โดยเฉพาะผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งวิเคราะห์ข้อความบน X กว่า 7.4 ล้านข้อความ ของประชาชนเกือบ 1.3 ล้านคน ช่วงปี 2017-2019 ที่พบว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ไม่เชื่อในเรื่องโลกร้อน ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนพรรคเดโมแครตจะมีแนวโน้ม เชื่อเรื่องโลกร้อนมากกว่า

โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน Gage Skidmore from Peoria, AZ, United States of America นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมในสหรัฐๆ ถึงยังมีคนจำนวนมากที่ ปฏิเสธปัญหาโลกร้อนอยู่ เพราะผู้ที่นิยมชมชอบ ทรัมป์ มีไม่น้อยเลย

ผู้คนไม่เชื่อ นักวิทยาศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์คือคนกลุ่มเดียว ที่อธิบายเรื่องนี้ได้ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกมองว่า เป็นพวก “หิวแสง” หรือมักนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือถูกบางองค์กรจ้างมาเพื่อปั่นกระแสเท่านั้น ในรายงานของ Plos Climate พบว่า ปี 2016 คน 57% ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน เชื่อว่าผลการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ มาจากนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการหาทางลัดให้ตนเองประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ดังนั้นผลวิจัยของพวกเขาจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

โลกยังเย็นอยู่ เพราะโลกยังเย็นอยู่

เหตุผลนี้อาจฟังดูแปลกๆ แต่คนที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อน เพราะพื้นที่ของตนเองยังหนาวอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้มักไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนของภูมิอากาศโลก

เพราะปัญหาจากภาวะโลกร้อนของแต่ละพื้นที่นั้น ไม่สามารถใช้วัดด้วยมาตรฐานเดียวกัน และแต่ละพื้นก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ที่ไหนบนโลก หากอยู่ในสหราชอาณาจักร หรือไอร์แลนด์ ก็มีแนวโน้มจะเจอลมฝนมากขึ้น หากอยู่ใน นิวยอร์กอาจมีหิมะมากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น และกำลังมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกปี

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนจำนวนมาก ไม่ยอมรับความซับซ้อนนี้ และเชื่อว่าโลกยังเย็นอยู่ โดยอ้างว่า “ก็ประเทศฉันยังหนาวอยู่ทุกปี”

โดนัลด์ ทรัมป์

การแพร่ระบาดของข่าวปลอม

ตามการวิเคราะห์ของ “Center for Countering Digital Hate (CCDH) ” ระบุว่า การทำ Fake News เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนในช่วงปี 2018-2023 นั้น เพิ่มขึ้นอย่าง "น่าตกใจ" โดยใน YouTube 96 ช่อง มีการผลิต วิดีโอที่สนับสนุนให้คนไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องรวมกันมากกว่า 12,000 รายการ

ทั้งหมดมีเนื้อหาโจมตีวิธีแก้ปัญหา วิทยาศาสตร์ และการรณรงค์เรื่องโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 70% ของการปฏิเสธโลกร้อนทั้งหมดที่โพสต์บน YouTube ตามรายงาน โดยเพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2018 ซึ่งมีตั้งแต่วิดีโอของมือสมัครเล่น ไปจนถึงผู้ที่อ้างว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์

ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้ Google แบนการสร้างรายได้ของช่องเหล่านี้ เนื่องจากทําให้คนหมกมุ่นไปในทางที่ผิด และขัดกับความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนของนานาชาติ

ผู้คนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

การยอมรับว่าปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องจริง และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะผู้คนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่การไม่ใช้ถุงพลาสติก ลดการใช้พลังงาน ไปจนถึงลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก ชวนหงุดหงิดมาก บวกกับการแก้ปัญหาโลกร้อนต้องอาศัยระยะเวลาหลายชั่วอายุคน ไม่ได้จะทำสำเร็จได้ในเวลาแค่ 2-3 ปี

ดังนั้นมันจึงง่ายกว่า หากผู้คนจะทำเป็นไม่สนใจ หรือไม่เชื่อในการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะใช้ชีวิตตามใจตัวเองเหมือนเดิม เพราะไม่ว่ายังอย่างไร “ฉันก็จะตายในอีกไม่นานอยู่แล้ว” ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่อันตรายที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อนในระยะยาว

ผลกระทบ ภาวะโลกร้อน SOURCE: REUTERS อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้คนจะไม่เชื่อด้วยเหตุผลอะไร แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ก็มีฉันทามติอย่างท่วมท้น ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามโลกของจริง และเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ มากกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติของธรรมชาติ และในเมื่อเราก็รับรู้ได้ว่าสภาพอากาศบนโลกของเรา กำลังวิปริตขึ้นทุกวัน

สุดท้ายแล้ว คุณจะเลือกอยู่ฝั่งที่เชื่อ หรือไม่เชื่อ?

ที่มา Posttoday/CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related