SHORT CUT
สุขสันต์วันแรงงาน รู้หรือไม่ แรงงานกว่า 2.4 พันล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของแรงงานทั่วโลกเสี่ยงล้มป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนไทยจมทั้งอากาศร้อนและฝุ่นพิษ
“แรงงาน” อีกหนึ่งอาชีพที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้แดดเกือบจะตลอดทั้งวัน รู้หรือไม่? แรงงานทั่วโลกกว่า 70% มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการทำงานท่ามกลางอากาศร้อนจัด
รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) เผยว่า คนงานจำนวนมหาศาล ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของแรงงานทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะเผชิญความอันตรายต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ILO ประมาณการว่าคนงานมากกว่า 2.4 พันล้านคน (จากจำนวนแรงงานทั่วโลก 3.4 พันล้านคน) หรือจำนวนแรงงานคิดเป็นร้อยละ 70.9 เพิ่มขึ้นจากเดิม 65.5 นับตั้งแต่ปี 2000 มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความร้อนมากเกินไป ณ จุดใดจุดหนึ่งระหว่างการทำงาน (จากข้อมูลตัวเลขล่าสุดปี 2020)
นอกจากนี้ ตัวเลขจากปีเดียวกันยังประมาณการเพิ่มอีกว่า มีคนงานอีกประมาณกว่า 20 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยที่เกิดขึ้นจากความร้อน และมีผู้เสียชีวิตราว 20,000 ราย จากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยอันเกี่ยวเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนจัด
รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า โรคภัยที่ถูกพบในแรงงานส่วนใหญ่ คือ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ความผิดปกติของไต และสภาวะสุขภาพจิต ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ
คลื่นความร้อนและสภาพอากาศที่ย่ำแย่จากฝุ่นพิษ แม้จะรู้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพขนาดไหน แต่ทำไงได้ ในเมื่อชีวิตไม่ได้มีทางเลือกอื่นมากขนาดนั้น ดังนั้น จึงต้องทำงานแรงงานต่อไป โดยไม่ได้รับการปกป้องหรือได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
โรคลมแดด กำลังจะกลายเป็นโรคยอดฮิตสำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ความเครียดที่เกิดจากความร้อน เป็นความท้าทายของผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ทั้งในภาคของการเกษตร การก่อสร้าง การประมง และการขนส่งคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพนักงานในอาคารจะไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับแหล่งความร้อนที่ไม่ได้มีการระบายอากาศที่ดีพอ เช่น กลุ่มโรงงาน เตาเผา หรือโกดังสินค้า ล้วนเป็นอันตรายต่อคนงานพอ ๆ กับการทำงานหนักภายใต้แสงแดดที่ร้อนจัด
นอกเหนือจากความเครียดจากอากาศร้อนและมลภาวะทางอากาศ ความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ภัยพายุ น้ำท่วมต่าง ๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับแรงงานเช่นกัน
ตัวอย่างหนึ่งจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผลการศึกษาล่าสุดโดย Global Labor Institute ของ Cornell University พบว่า อากาศร้อนและน้ำท่วม อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้สูญเสียรายได้จากการส่งออก 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว ๆ 2 ล้านล้านบาท) และการจ้างงาน 950,000 ตำแหน่งภายในปี 2030
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย เผยว่า บางประเทศ เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เป็นกลุ่มประเทศที่เผชิญอากาศร้อนจัด ก็ได้บังคับใช้กฎหมายและแนวปฏิบัติเพื่อจัดการกับอากาศร้อนในที่ทำงาน ปกป้องคนงานจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งรัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งออกกฎหมายที่ครอบคลุม และยืดหยุ่นกับสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ให้แรงงานในการปกครองของตนนั้นปลอดภัย
นอกจากนี้ การเจรจาทางสังคมระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และตัวแทนคนงาน ตลอดจนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิผล ซึ่งนำไปปฏิบัติได้จริงและปรับเปลี่ยนได้ในระดับสถานที่ทำงาน
ที่มาข้อมูล
International Labour Organization (22 April 2024)
International Labour Organization (28 April 2024)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง