svasdssvasds

รู้จัก Sit Down strike เมื่อแรงงานตอบโต้นายจ้างด้วยการนั่งประท้วงจนชนะ

รู้จัก Sit Down strike เมื่อแรงงานตอบโต้นายจ้างด้วยการนั่งประท้วงจนชนะ

รู้จัก “Sit Down strike” เมื่อแรงงานโรงงานรถยนต์ในสหรัฐฯ ตอบโต้นายจ้างด้วยการนั่งเฉยๆ ไม่ยอมทำงาน จนได้ค่าแรงเพิ่ม

SHORT CUT

  • ช่วงปี 1936 ในสหรัฐฯ เกิดการ “นั่งประท้วง” ไม่ยอมทำงาน ซึ่งสั่นสะเทือนอำนาจของนายจ้าง และเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของแรงงาน
  • ปี 1960 กลุ่มคนผิวดำประท้วงร้านอาหารที่สงวนที่ไว้สำหรับคนผิวขาว โดยเข้าไปนั่งอยู่เฉยๆ จนร้านปิด คนผิวดำพื้นที่อื่นจึงเริ่มทำเหมือนกัน
  • “การนั่งลงเป็นเรื่องทางสังคม” เมื่อคนหลายร้อย หรือหลายพันมาอยู่ในที่เดียวกัน ก็จะเกิดการพูดคุย จนเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง

รู้จัก “Sit Down strike” เมื่อแรงงานโรงงานรถยนต์ในสหรัฐฯ ตอบโต้นายจ้างด้วยการนั่งเฉยๆ ไม่ยอมทำงาน จนได้ค่าแรงเพิ่ม

“ชนชั้นแรงงาน” มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำให้เกิดผลผลิตมากมาย แต่บ่อยครั้งแรงงาน มักถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการถูกกดค่าแรง ทำงานหนักเกินไป การถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง หรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ปลอดภัย จึงทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างหลายครั้ง ในตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมา

โดยในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 การประท้วงแบบเดิมซ้ำๆ ของแรงงานทั่วโลกเมื่อไม่พอใจนายจ้าง มักเป็นการรวมตัวก่อความวุ่นวายใช้กำลังทำลายทรัพย์สินนายจ้าง รวมถึงตั้งสิ่งกีดขวางบนท้องถนน ซึ่งนายจ้างก็จะตอบโต้ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปปราบปราม หรือไม่ก็ให้กลุ่มอันธพาลรับจ้างเข้าข่มขู่ผู้ประท้วง ซึ่งสุดท้ายจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชนชั้นแรงงานเสมอ

แต่ในปี 1936-1937 ได้เกิดการประท้วงของกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นวิธีการอารยะขัดขืนเชิงสันติวิธี นั่นคือการ “นั่งประท้วง” ไม่ยอมทำงาน ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสั่นสะเทือนอำนาจของนายจ้าง จนเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของชนชั้นแรงงานครั้งแรก ในสหรัฐอเมริกา

การนั่งประท้วงของชนชั้นแรงงาน : ภาพ Library of Congress

การนั่งประท้วงที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1920 อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก และนำความมั่งคั่งมาสู่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน แต่เมื่อ ตลาดหุ้นตกในปี 1929 รวมถึงเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ยอดขายรถยนต์ก็ทรุดตัวลง และการผลิตก็ลดลง จึงส่งผลให้บริษัทรถยนต์จำนวนมากต้องเลิกจ้างพนักงานใน ดีทรอยต์

ทำให้ช่วงปี 1929-1932 ค่าจ้างเฉลี่ยของคนทำงานรถยนต์ในมิชิแกนลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องเดินเตะฝุ่น ไม่มีงานทำอีกหลายพันคน และในวันที่ 7 มี.ค. 1932 แรงงานมากกว่า 3,000 คนที่นำโดยสภาผู้ว่างงานในเมืองดีทรอยต์ รวมกันเดินขบวนไปยังโรงงานรถยนต์ของ “ฟอร์ดรูจ (Ford Rouge)” ในเมืองเดียร์บอร์น เพื่อเรียกร้องงาน การบรรเทาทุกข์ให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และแก้ไขปัญหาของพนักงานปัจจุบัน

แต่ผู้ชุมนุมต้องเผชิญหน้ากับตำรวจ และหน่วยรักษาความปลอดภัยของโรงงานฟอร์ด ซึ่งสาดกระสุนหลายร้อยนัดใส่พวกเขา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คนในวันนั้น และมีมวลชนร่วมการเดินขบวนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตมากถึง 60,000 คน แต่สุดท้าย การชุมนุมในวันนั้น ก็ไม่ได้อะไรจากนายจ้างเป็นชิ้นเป็นอัน แต่มันปูทางไปสู่การประท้วงรูปแบบใหม่ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

หลังจากแรงงานในมิชิแกน ต้องทนอยู่กับสภาพการทำงานที่ไม่ดี และรับค่าจ้างต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด วันที่ 30 ธ.ค. 1936 ก็ก่อเกิด “การหยุดงานประท้วงครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แรงงานของอเมริกา” เพราะคนงานกว่า 100,000 คนของ General Motors (GM) บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ ต่างนั่งเฉยๆ อยู่ในโรงงาน 17 แห่ง โดยไม่ยอมทำงาน

นั่งประท้วงหยุดงาน : ภาพ U.S. Department of Agriculture

โดยการนั่งเฉยๆ เพื่อประท้วงของพวกเขา ไม่ใช่การนั่งแบบไม่ยอมลุกไปไหนจากเก้าอี้ แต่หมายถึงเข้าไปนั่งๆ นอนๆ เดินไปมา อ่านหนังสือพิมพ์ กินกาแฟ และพูดคุยกัน หรือพูดง่ายๆ คือเข้าไปที่ทำงานเหมือนเดิม แต่แค่เข้าไปอยู่ในนั้นเพื่อทำตัวว่างๆ แค่นั้น 

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ จึงส่งผลให้อุปกรณ์และเครื่องจักรของนายจ้างสุ่มเสี่ยงเกิดความเสียหาย หากส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปราบปราม และในเวลานั้น “สหภาพแรงงาน” หรือที่ “United Auto Workers (UAW)” ก็ได้แย้งว่า ไม่ใช่แรงงานที่ทำผิดกฎหมาย แต่เป็นนายจ้างโรงงานรถยนต์ต่างหากที่เอาเปรียบพวกเขา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Act) ” อย่างร้ายแรง

การประท้วงลากยาวไป 44 วัน จนถึงเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ของปี 1937 ในที่สุดชนชั้นแรงงานก็ได้รับชัยชนะ เพราะ บริษัท GM ได้ยอมขึ้นค่าจ้างให้กับคนงานรวมเป็นเงินกว่า 25 ล้านดอลลาร์ และยอมรับข้อเสนอของสหภาพแรงงานอื่นๆ ในการดูแลคนงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในชัยชนะครั้งสำคัญครั้งแรก ตั้งแต่มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และภายในหนึ่งปี สมาชิกของ UAW ก็เพิ่มขึ้นจาก 30,000 คนเป็น 500,000 คน เนื่องจากค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากถึง 300 เปอร์เซ็นต์

เหตุการณ์นี้ เป็นที่รู้จักในฐานะ “Sit-Down Strike” หรือการนั่งประท้วง ที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกในสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และจะเป็นแนวทางให้การนั่งประท้วงครั้งต่อๆ ไปอีกนับไม่ถ้วน

รู้จัก Sit Down strike เมื่อแรงงานตอบโต้นายจ้างด้วยการนั่งประท้วงจนชนะ

การนั่งประท้วงครั้งสำคัญ

การ Sit-Down Strike ที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในปี 1960 ซึ่งรอบนี้เป็นของกลุ่มคนผิวดำประท้วงร้านอาหารที่สงวนพื้นที่ไว้สำหรับคนผิวขาว โดยวันที่ 1 ก.พ. 67 นักศึกษาผิวดำกลุ้มหนึ่งเข้าไปนั่งแช่ในร้านอาหาร The Woolworth store ตรงที่นั่งของคนผิวขาว และนั่งแช่อยู่อย่างนั้นจนกระทั่งร้านปิด ซึ่งจุดประกายให้คนผิวสีในพื้นที่อื่นๆ ของสหรัฐหันทำแบบเดียวกัน

ส่วนในอังกฤษ ปี 1973 คนงานของโรงงาน Triumph Motorcycles ที่เวสต์มิดแลนด์ ได้ประท้วงในลักษณะคล้ายๆ กัน โดยไม่ยอมทำงานและยึดโรงงานไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปิดโรงงาน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างใหม่ของนายจ้าง ซึ่งการประท้วง กินเวลานานกว่าหนึ่งปีจนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษเข้ามาแทรกแซง และทำการซื้อโรงงาน เพื่อให้แรงงานมีรายได้ต่อไป

นอกจากนี้ ในปี 2010 ที่สวิตเซอร์แลนด์ คนงานในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ “International Labor Organization” ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศดูแลสิทธิของคนงาน ได้นัดหยุดงานประท้วงที่สำนักงานใหญ่เพื่อนั่งประทวงสัญญาจ้างงานระยะสั้นสำหรับพนักงานด้วยเหมือนกัน

นั่งประท้วง ภาพ  :own collection

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการนั่งประท้วง จะประสบความสำเร็จทุกครั้ง แต่วิธีนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักต่อสู้ทั่วโลก เพราะเป็นการแสดงอารยะขัดขืน และเป็นการต่อต้านด้วยสันติวิธี เรื่องจากไม่ได้ก่อความวุ่นวายใดๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากเฝ้าดูเฉยๆ

นอกจากนี้ “การนั่งลงเป็นเรื่องทางสังคม” เมื่อคนหลายร้อย หรือหลายพันมาอยู่ในที่เดียวกัน ก็จะเกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเกิดความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งทำให้กลุ่มนั่นมีความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน มากกว่าการมารวมตัวกันเพื่อก่อความวุ่นวาย ซึ่งนายจ้างจะใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามได้

 ที่มา : THE WASHINGTON POST / THE MATTER 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related