"พิพัฒน์" ยัน 1 พ.ค.วันแรงงาน ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แต่จะประกาศเจตนารมย์ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศภายในปี 2567 คาด 1 ต.ค. รู้ประกาศขึ้นค่าแรงอาชีพไหน จังหวัดไหน
เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานรอคอยคือเซอร์ไพรส์ใน วันแรงงาน 1 พ.ค.2567 เกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท
ล่าสุดนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการประกาศ ของขวัญวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ว่าในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศนั้น ไม่ได้มีการขึ้นทันที แต่จะเป็นการประกาศเจตนารมย์ ว่าภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ซึ่งการสื่อสารที่ผ่านมาอาจทำให้เกิดความสับสน
“วันแรงงาน 1 พฤษภาคม ผมและผู้บริหารกระทรวงแรงงานจะมีการประกาศเจตนารมย์ของนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทุกสาขาอาชีพภายในปี 2567 นี้ แต่คาดว่าไม่ต้องรอถึงสิ้นปี โดยวันที่ 1 ต.ค. 2567 จะมีการประกาศขึ้นค่าจ้างในภาพรวมทั่วประเทศ “นายพิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เนื่องจากเป็นนักการเมือง และหากมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม จะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 จะมีการประชุมร่วมกับไตรภาคีในทุกเดือน และในแต่ละการประชุมจะมีความชัดเจนว่าอาชีพไหน รมว.รง.ทำได้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น
“การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ผมไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ แต่สามารถให้คำแนะนำได้ ในฐานะที่มาจากภาคธุรกิจ รู้ว่าภาคธุรกิจใดมี ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันแล้ว หรือภาคธุรกิจใดที่ยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึง 400 ควรจะประกาศให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการที่ภาคเอกชนออกมาคัดค้านนั้น ส่วนตัวมองว่าตอนนี้ถึงเวลาที่ควรปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะหลังจากการเลือกตั้ง สินค้าต่างๆ มีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว และไม่ได้ปรับลดราคาลง ดังนั้น เมื่อสินค้าราคาขึ้น ก็ต้องเห็นใจแรงงาน ปรับขึ้นค่าจ้าง และการขึ้นราคาสินค้า ขึ้นทุกจังหวัด ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องดำเนินการทั่วประเทศ ” นายพิพัฒน์กล่าว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ซึ่งมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ฯ จะมีการประชุมในวันที่ 14 พ.ค.2567 ซึ่งจะทำให้มีความชัดเจนว่าอาชีพไหน หรือจังหวัดใดได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการแจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คงไม่สามารถใช้ธรรมเนียมเดิมในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่ส่วนไหนที่มีความพร้อม ที่ทำไปได้ก่อน ควรทำทันที และควรให้โอกาสกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานในแต่ละสาขาวิชาชีพ ส่วนของธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME นั้น ตนมีความกังวลค่อนข้างมากว่าจะพร้อมปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท หรือไม่ ซึ่งจะต้องหารือเพื่อนำข้อมูลไปรายงานให้กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบว่า ว่าหากสถานประกอบการใด ธุรกิจSME ใดไม่ไหว ไม่สามารถปรับขึ้นได้ ทางรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
“การดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งที่ 3 ของปี เป็นการเร่งรัดสร้างผลงาน เพื่อรักษาตำแหน่งรัฐมนตรี เรื่องนี้ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ยืนยันชัดเจนว่า รัฐมนตรีทั้ง 8 คนจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) วันนี้เดินหน้าทำงานกันอยู่แล้ว คิดว่าจะไม่มีการปรับเฉพาะของพรรคภูมิใจไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง