SHORT CUT
เปิดที่มา 1 พ.ค. วันแรงงานแห่งชาติ และ ประวัติศาสตร์วันหยุดพักผ่อนในอดีต จากสิทธิของชนชั้นสูง สู่สิทธิของแรงงานทั่วโลก
1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันแรงงาน (National Labour Day)” ที่ถือเป็นวันระลึกถึงผู้ใช้แรงงานทุกคน เพราะชนชั้นแรงงานมีความสำคัญต่อความเจริญของประเทศ ซึ่งใน “วันแรงงาน” คือวันที่ลูกจ้างทุกคนจะได้หยุด 1 วันเพื่อพักผ่อน
และเมื่อพูดถึงวันหยุด แน่นอนว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทุกคน แต่เชื่อหรือไม่ว่า วันหยุดที่ให้แรงงานได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัว หรือเที่ยวกับเพื่อนฝูงได้นั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นมาเพียงไม่ ถึง 100 ปี เพราะในอดีต วันหยุดพักผ่อน หรือสิทธิที่จะลาไปเที่ยวเล่น มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่ทำได้ ส่วนชนชั้นแรงงานต้องต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อให้ได้มา
วันนี้ SPRiNGNEW จะชวนมาดู ความเป็นมาของวันหยุดตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันแบบคร่าวๆ กัน
วันหยุดเป็นหนึ่งในเรื่องพื้นฐานที่สร้างความสุขให้ชีวิต และเราจะจดจำเรื่องราวของวันหยุดดีๆ ที่มี ไปจนวันตาย แต่แนวคิดเรื่องวันหยุดพักผ่อนมาจากไหน? ยอดคนอัจฉริยะ หรือคนทั่วไปที่แค่ขี้เกียจทำงาน เพื่อหาคำตอบนั้น เราต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน
ตามที่มีการบันทึกมา ชาวโรมันอาจเป็นคนกลุ่มแรกบนโลกที่ได้ดื่มด่ำกับวันหยุด และพวกเขาไม่ได้หยุดงานแค่ 2-3 วันต่อครั้ง แต่ชนชั้นสูงของโรมันมักใช้เวลาพักผ่อนนานถึงสองปี !
“โทนี เพอร์รอตเตต (Tony Perrottet)” นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า ชาวโรมันเป็นชนชาติแรกที่มีการเดินทางเพื่อพักผ่อน เพราะในโลกสมัยโบราณ คนจะมีวันหยุดได้ก็ต่อเมื่ออาณาจักรที่พวกเขาอยู่มีความเจริญรุ่งเรือง และสงบสุข ซึ่งในช่วงเวลานั้นน่าจะมีแค่จักรวรรดิโรมันเท่านั้น
จักรวรรดิโรมันเป็นอารยธรรมแรกๆ ที่ได้เพลิดเพลินกับช่วงเวลาดังกล่าว และได้วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีวันหยุดเกิดขึ้นได้ งานของกองทัพในการป้องกันชายแดน หรือคุ้มกันเส้นทางขนส่งเสบียงทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงการขยายดินแดนอย่างต่อเนื่องได้เอื้อให้พลเมืองเดินทางได้อย่างอิสระ ซึ่งทำให้เกิดการสร้างโรงแรมขนาดเล็ก ร้านอาหาร และมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นทุกสิ่งที่นักเดินทางต้องการเพื่อเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยว
นอกจากนั้น ชาวโรมันยังมีการทำข้อมูลนำเที่ยว ซึ่งบอก เชิงลึกเกี่ยวกับทุกสิ่ง ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ของสถานที่ ไปจนถึงข้อมูลศิลปะ และสถาปัตยกรรม ซึ่งได้กลายมาเป็น มาตรฐานของงานไกด์นำเที่ยวในปัจจุบันด้วย
หลังจากการล่มสลายของกรุงโรม ยุโรปก็ก้าวเข้าสู่ “ยุคมืด (Dark Age)” อิสระที่จะไปไหนมาไหนอย่างปลอดภัยจึงกลายเป็นเรื่องยาก การเดินทางตลอดยุคมืด และยุคกลางจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ การค้นหาดินแดนใหม่ หรือ เพื่อบุกโจมตีดินแดนของศัตรู
กล่าวได้ว่า ถ้าไม่ได้เกิดเป็นชนชั้นสูง หรือนักเดินทางแสวงบุญ คนยุคนั้นก็แทบไม่มีโอกาสเดินทางไปไหน และวันหยุดของพวกเขาก็จะมีแค่กิจกรรมเฉลิมฉลองวันนักบุญ หรืองานแต่งงานของสมาชิกในครอบครัว หรืองานวันเกิดของเจ้าของปราสาทเท่านั้น
ในช่วงที่ราชวงศ์ทิวดอร์ปกครองอังกฤษ (1485-1603) วันหยุดสำหรับการเดินทางพักผ่อนถูกสงวนไว้สำหรับราชวงศ์และราชสำนัก และมักจะเกี่ยวข้องกับการที่กษัตริย์หรือพระราชินีเสด็จไปยังเมืองต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลานานถึงหนึ่งเดือน และมีขณะผู้ติดตาม 100-200 เดินทางไปด้วย จึงเหมือนเป็นวันหยุดที่ให้ชนชั้นสูงได้เดินทางไปเปิดหูเปิดตานอกประเทศโดยปริยาย
ต่อมา ในช่วงการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ที่ความก้าวหน้าในการต่อเรือมีมากขึ้น เรือแบบเกลเลียน (Galleons) เข้ามาแทนที่เรือพาย จึงเป็นยุคที่กระตุ้นให้ผู้ชายที่มีความอยากรู้ยากเห็นออกไปผจญภัยกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ใช่ยุคที่คนทั่วไปจะหยุดงานไปเที่ยวได้ เพราะมีแต่คนที่มั่งคั่ง กับแรงงานบนเรือเท่านั้นที่ได้เดินทางไปพักผ่อนต่างแดน
หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ได้เกิด การเดินทางรูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือ “เรือกลไฟ” และ “บริการรถไฟหรู” ที่พาผู้คนไปต่างประเทศได้ แม้จะใช้เวลาหลายวัน แต่การเดินทางดังกล่าวถือเป็นเรื่องชวนฝันในสมัยนั้น และถือเป็นความก้าวหน้าของมนุษย์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม มีแต่กลุ่มผู้มั่งคั่งเท่านั้น ที่ได้เพลิดเพลินกับวันหยุดที่สะดวกสบายขึ้น ในทางกลับกันชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ยังต้องอยู่อย่างลำบาก ค่าแรงต่ำ รวมถึงไม่มีสวัสดิการที่ชัดเจน และบางแห่งก็ไม่มีแม้แต่วันลาพักร้อน ส่วนใหญ่ต้องทำงานต่อเนื่อง 6 วัน เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง หรืออาจมากกว่านั้น เพราะรัฐบาลยังไม่มีการกำหนดวันหยุดที่แน่นอนสำหรับแรงงาน
ทำให้ในปี ค.ศ. 1886 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้กันเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง และเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับของแรงงานด้านอื่นๆ ซึ่งเรื่องราวรุนแรงจนเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มแรงงานกับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ฝ่าย
หลังมีผู้บาดเจ็บและล้มตาย ทั้ง 2 ฝ่ายจึงบรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรมกับแรงงาน โดยกลุ่มแรงงานได้สวัสดิการด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันแรงงาน” หรือที่เรียกที่เรียกสั้นๆ ว่า “เมย์เดย์” และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1919
อย่างไรก็ตาม วันหยุดเพียงวันเดียวของแรงงานคือ “วันอาทิตย์” เนื่องจากเป็น วันสำคัญในการประกอบพิธีทางศาสนา รวมถึงเป็นวันดื่มสังสรรค์ของผู้คน ส่วนวันหยุดอื่นๆ มักเป็นวันสำคัญของประเทศ ซึ่งมีน้อยมาก
สภาพที่ย่ำแย่นี้ ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในปี 1938 เมื่อ “เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford)” เจ้าของโรงงานรถยนต์ชื่อดัง ได้เริ่มให้คนงานหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม เพื่อให้คนงานมีเวลามากพอที่จะไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง แล้วค่อยกลับมาทำงาน ซึ่งผลปรากฏว่า คนงานของเขามีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทดีตาม และทำให้ทุกบริษัททำตามแนวทางของเขา จนเป็นที่มาของวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ที่ทั่วโลกยึดเป็นหลักสากลจนถึงวันนี้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงทำให้ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่แรงงานได้ใช้วันหยุดแบบเต็มที่อย่างแท้จริง ชายหาดเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ป่ากลายเป็นสถานที่ตั้งแคมป์ เพราะเมื่อคนเรามีวันหยุดมากขึ้น ก็ย่อมอยากเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
การที่แรงงานได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือการใช้สิทธิลาพักร้อนนั้น ช่วยให้พวกเขาปรับสมดุลระหว่างเวลาส่วนตัวและการพักผ่อนได้ ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานอย่างคาดไม่ถึง
ซึ่งต้องขอบคุณชาวแรงงานนับไม่ถ้วนในอดีต ที่เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และชีวิตเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานของชนชั้นแรงงานทุกคน รวมถึง เฮนรี ฟอร์ด ที่มองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวแรงงานทุกคน
เพราะหากปราศจากพวกเขา ปัจจุบันนี้ วันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงสิทธิลาพักอื่นๆ อาจถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นปกครองเพียงกลุ่มเดียวเหมือนดั่งในอดีตก็ได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / Travelex
ข่าวที่เกี่ยวข้อง