SHORT CUT
อ้างอิงจากพยากรณ์อากาศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธุ์ 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนในรัฐทางตอนกลางและตอนล่างของประเทศ กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน เวลาผ่านไปไม่นานหิมะตกอีก
"โลกรวน" เชื่อว่าเราจะได้ยินคำนี้ไปอีกสักพัก สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า บางพื้นที่ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับอากาศแปรปรวนหนัก โดยบางพื้นที่เจอคลื่นความร้อน ซึ่งทำให้อากาศในฤดูหนาวนี้อบอุ่นผิดปกติ ก่อนที่หลังจากนั้น คลื่นความหนาวเย็นจะเข้าพัดถล่มต่อเลย
พยากรณ์อากาศสหรัฐฯคาดการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯว่า ประชาชนทางตอนกลางและใต้ของประเทศ กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน ขณะที่บางพื้นที่ กำลังจะเจอพายุหิมะพัดถล่มภายในระยะเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงถัดจากนี้
โดยเมื่อวันจันทร์ หลายรัฐของสหรัฐฯ เช่น เนบราสกา และไอโอวา อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลานี้ของปี ขณะที่หลายเมืองทางตอนใต้ เช่น เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส อากาศร้อนขึ้นไปอยู่ที่ราว 30 องศาเซลเซียส
คลื่นความร้อนที่พัดเข้าถล่มในสัปดาห์นี้ เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯต้องเผชิญอากาศที่แปรปรวนในช่วงฤดูหนาวปีนี้ อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ Atmospheric River (AR) หรือ ‘แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ’ ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งปริมาณฝนที่ตกลงมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้นเทียบเท่ากับปริมาณฝนที่ตกทั้งปีเลยทีเดียว และยังเป็นผลมาจากปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมทะเลสาปเกรทเลคมีปริมาณน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย
ทั้งนี้ แม่น้ำในชั้นบรรยากาศเป็นกระแสไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ที่ไหลเวียนเป็นแนวยาว เหมือนแม่น้ำบนท้องฟ้า ที่คอยพัดพานำความชุ่มชื้นไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก แต่แม่น้ำในชั้นบรรยากาศที่มีความรุนแรงมาก ก็สามารถก่อให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม ที่อาจนำไปสู่ความเสียหายในระดับใหญ่
อย่างไรก็ตาม บรรดานักพยากรณ์อากาศระบุว่า มันยากที่จะชี้ว่า สภาพอากาศแบบใดแบบหนึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ แต่สภาพอากาศแบบสุดขั้วก็เริ่มเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า รูปแบบอากาศจากปรากฏการณ์เอลนีโญก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อากาศแปรปรวน
โจ เวกแมน นักพยากรณ์อากาศของสำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯเปิดเผยว่า อากาศที่แปรปรวนเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนในสัปดาห์นี้ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของทางตะวันออกของประเทศกำลังเผชิญกับฤดูหนาวที่มีหิมะน้อยลง และอากาศอบอุ่นกว่าปกติอันเป็นผลมาจากรังสีดวงอาทิตย์ที่แผ่มา
โดยคลื่นความร้อนจะเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปทางตะวันออกทั่วสหรัฐฯ ก่อนจะลอยออกไปทางมหาสมุทรแอตแลนติกภายในวันพฤหัสบดีนี้
นอกจากนี้ บางพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับอากาศอบอุ่นผิดปกติ ก็จะเจอแนวย่อมความเย็นพัดถล่มในวันอังคารที่ 27 ก.พ. นี้ อย่างที่เมืองฟอร์คส์ รัฐนอร์ธดาโกตา ซึ่งวันที่ 26 ก.พ. อุณหภูมิจะอยู่ที่ราว 12 องศาเซลเซียส ก่อนที่ในค่ำวันที่ 27 ลมหนาวจะพัดมาทำให้อุณหภูมิต่ำสุดไปอยู่ที่-29 องศาเซลเซียสได้เลย
ที่มา: Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง