SHORT CUT
โลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ขณะนี้ส่งผลกระทบทำให้ "ซากุระ" บานผิดคิว! ไม่ทันจะหมดกุมภาพันธ์ดี แต่บานเต็มที่แล้วเรียบร้อย เรื่องราวเป็นอย่างไรติดตามได้ที่นี่
เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีแพลนไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัวหรือคนรักในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2567 บ้างก็ไปดูภูเขาไฟฟูจิ กินปลาดิบเลิศรส สวมชุดกิโมโนแช่น้ำร้อน หรือบ้างก็ไปเพื่อยลโฉม “ซากุระ” ผลิบานสะพรั่ง
อื่น ๆ ยังทำได้เหมือนเดิมยกเว้นการได้เห็น “ซากุระ” บานเปล่งประกาย หลังเว็บไซต์ Weather.com รายงานว่า ปีนี้ ญี่ปุ่นอากาศร้อนจัด ทำซากุระบานเร็วกว่าปกติ บานฉ่ำเต็มที่แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้ง ๆ ที่ “เทศกาลดอกซากุระบาน” ยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ
สองฝั่งถนนของเมืองคาวาสึ (Kawazu) ขณะนี้ถูกแต่งแต้มด้วยสีชมพูสวยสะพรั่งจากซากุระที่กำลังบานเต็มที่ แม้จะสวยงามต่อผู้พบเห็น แต่ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยที่กังวลว่า เมื่อถึงเทศกาลดอกซากุระบาน (ปลายเดือนมีนาคม) เมืองแห่งนี้อาจจะมีซากุระน้อยกว่าที่เคยเป็น
เว็บไซต์ Independent เผยว่า สภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลอย่างมากต่อการ “บาน” ของซากุระในญี่ปุ่น ในปี 2023 พบว่า ซากุระบานเร็วกว่าปกติถึง 10 วัน ซึ่งถือว่าเร็วที่สุด 74 ปี ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการคิดเป็นเอง เพราะการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากาในปี 2022 ระบุไว้ว่า โลกร้อนและวิกฤตสภาพอากาศทำให้ซากุระบานเริ่มขึ้นกว่าปกติ 11 วัน
นอกจากนี้ สถิติยังบอกอีกว่าโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย จนแตกแยกแขนงไปเป็นสภาพอากาศแปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือเอลนีโญ ล้วนเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิช่วงฤดูหนาวของญี่ปุ่น เพิ่มสูงขึ้นก่อนยุคอุคสาหกรรมแบบเห็นได้ชัด
พ.ศ. 2498 คือครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเงื่อนไขการบานของดอกซากุระ โดยระบุว่า หากมีดอกซากุระสัก 5-6 ดอกขึ้นไปบนกิ่งก็ถือว่าซากุระบานแล้ว และเมื่อซากุระบานแล้วประมาณ 80% ของทั้งต้นก็ให้ถือว่าบานเต็มที่แล้ว
ข้อมูลจากมหาวิทนาลัยคันไซ ชี้ว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 63 ล้านคนเดินทางมาที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปเยี่ยมชมดอกซากุระบาน
ซึ่งเกิดการใช้จ่าย-หมุนเวียนของเม็ดเงินประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่าได้ดูถูกพลังของสีหวานใสของซากุระเชียว เป็นทั้งแลนด์มาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยว แถมมีความสำคัญกับวัฒนธรรมของประเทศแนบสนิทจนเป็นเนื้อเดียวกัน
ที่มา: Independent
ข่าวที่เกี่ยวข้อง