โลกร้อนขึ้น 1.52 องศา จากการรายงานของ Copernicus Climate Change Services (CS3) นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 จนถึงมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าปีนี้จะร้อนยิ่งกว่าปีที่แล้ว !
หน่วยงาน Copernicus Climate Change Services (CS3) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ปี 2023 จนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา (1 ปี) โลกร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.52 องศาซึ่งเกินกว่าที่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) กำหนดไว้
และหากนับเฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมาแค่เดือนเดียว พบว่า มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 13.14 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าร้อนขึ้น 0.7 องศา เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนมกราคมตั้งแต่ปี 1990 – 2020
ก่อนอื่นต้องบอกว่า แม้ตัวเลขจะทะลุเป้าที่หลาย ๆ ประเทศกำหนดร่วมกัน แต่ในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง เพราะในข้อตกลงเป็นการกำหนดเป้าการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา โดยเฉลี่ยระยะยาวอย่างน้อย 20 ปี
ซึ่งขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก (ภายใต้เงื่อนไขของความตกลงปารีส) อยู่ที่ 1.25 องศา จากการประเมินของศาสตราจารย์ริชาร์ด เบตต์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่ศูนย์วิจัย Met Official Hadley
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โลกร้อนขึ้น 1.52 องศานั้น เป็นผลกระทบของเอลนีโญ ที่ทำให้หลาย ๆ พื้นที่เผชิญสภาวะแห้งแล้ง รวมถึงทำให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น
อีกหนึ่งสาเหตุที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นไม่แพ้ภัยเอลนีโญคือ ก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีแววจะเพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี แม้ในการประชุม COP 28 ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ข้อยุติแล้วว่า จะหันไปใช้พลังงานสะอาดและลด/เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ทั้งนี้ ดร.แมตต์ แพตเตอร์สัน จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ระบุว่า พวกเราคงได้ยินข่าวเรื่องโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาตลอดทั้ง 11 เดือนที่เหลือ ซึ่งจากปีที่ผ่าน ๆ มา พวกเราคงได้เห็นแล้วว่า การที่อุณหภูมิสูงขึ้นแม้แต่หลักหน่วยนั้นส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกมากมายมหาศาลแค่ไหน
ถือเป็นภารกิจที่ทั้งโลกยังต้องพยายามร่วมกันต่อไป เพื่อช่วยลด/เลิกเรื่องใดก็ตามที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งบางครั้งการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่รู้ว่าพวกเราจะใช้เวลามากขนาดที่จะรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้ได้ในสภาพที่ไม่ใช่ซากปรักหักพังหรือเปล่า
ที่มา: Euro News
ข่าวที่เกี่ยวข้อง